เมลเบิร์น-ซิดนีย์ ออสเตรเลีย – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สนับสนุนการพัฒนาตำรับอาหารชาววังของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เพื่อก้าวสู่เวทีระดับโลกในงานมหกรรมอาหารระดับนานาชาติ Fine Food Australia 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 40 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

              

งาน Fine Food Australia 2024 ถือเป็นมหกรรมอาหารที่สำคัญที่สุดของทวีปออสเตรเลีย ดึงดูดผู้ประกอบการจากทั่วโลกเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง การจัดแสดงครั้งนี้ยืนยันถึงศักยภาพของอาหารไทยที่สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ โดยเฉพาะอาหารไทยตำรับชาววังที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คณะนักวิจัยกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก บพข. ใช้โอกาสนี้ทดสอบตลาดจริง พร้อมนำเสนออาหารชาววังที่สืบทอดจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ พระวิมาดาเธอ ภายใต้โครงการวิจัย การพัฒนานวัตกรรมต่อยอดตำรับอาหารชาววัง เมนูแกงแพนงเนื้อสูตรต้นตำรับชาววังจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม หลายบริษัทแสดงความต้องการสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปเพื่อนำเข้าสู่ตลาดทันที ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยโครงการนี้มีตลาดเป้าหมายที่สำคัญ 3 ทวีป คือ อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย

               

อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือ “นวัตกรรมอาหารชาววัง : ยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่เวทีโลก” ที่จัดขึ้น ณ นครซิดนีย์ โดยความร่วมมือระหว่าง บพข. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสมาคมร้านอาหารไทยแห่งประเทศออสเตรเลีย (Thai Restaurant Association of Australia: TRAA) นำโดย คุณทองพันธ์ มะลิวงษ์ หรือ คุณมาร์ค นายกสมาคม TRAA ผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยในออสเตรเลียผ่านสถาบัน Australian International College  งานนี้ได้รับเกียรติจาก คุณหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ เป็นประธานเปิดงาน โดยท่านกล่าวว่า “อาหารไทยไม่เพียงแต่เป็นรสชาติที่ชาวโลกหลงใหล แต่ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง การนำอาหารชาววังมาพัฒนาและต่อยอดเข้าสู่ตลาดสากลถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นอกจากนี้ นครซิดนีย์ยังเป็นศูนย์กลางของอาหารไทยในออสเตรเลีย ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับการทดลองตลาด” ท่านยังได้เน้นย้ำถึงการขยายผลการวิจัยในอนาคตบนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ บพข. มหาวิทยาลัยฯ และภาคธุรกิจ ในการสนับสนุน Destination Thailand Visa (DTV) ซึ่งออกแบบมาเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มที่นิยมทำงานทางไกล (digital nomads), ฟรีแลนซ์, และผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้หลักสูตรระยะสั้น ด้าน Thai Soft Power เช่น การเรียนศิลปะการป้องกันตัวด้วยมวยไทย การเรียนรู้เกี่ยวกับการปรุงอาหารไทยที่ถูกต้อง/คุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารไทย และการรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการ/การดูแลสุขภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถพำนักในประเทศไทยได้เป็นระยะเวลานานขึ้น

               

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนานวัตกรรมอาหารไทย โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาตำรับอาหารชาววังให้ตอบโจทย์ตลาดสากลอย่างมีประสิทธิภาพ  “การพัฒนาวัฒนธรรมอาหารไทยให้กลายเป็นนวัตกรรมถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ บพข. ภายใต้กองทุน ววน.  ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการผลักดันและส่งออก Soft Power อาหารไทย ให้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่สร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน” ผศ.สุภาวดีกล่าว

               

คุณทองพันธ์ มะลิวงษ์ หรือ คุณมาร์ค ได้สนับสนุนทีมวิจัยในการนำอาหารไทยตำรับชาววังมาปรุงให้ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและนักเรียนชาวต่างชาติได้ทดลองชิมถึง 7 เมนู โดยมีนักเรียนกว่า 60 คนจากหลายประเทศเข้าร่วมชิม คุณทองพันธ์กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่างสมาคม TRAA กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยได้รับการสนับสนุนจาก บพข. ช่วยผลักดันให้ร้านอาหารไทยในออสเตรเลียเติบโตและนำอาหารชาววังให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ" นอกจากนั้นยังกล่าวถึงโอกาสในการขยายความร่วมมือในอนาคตเพื่อพัฒนาบุคลากร (เชฟ) ที่มีทักษะสูงในการประกอบอาหารรวมทั้งมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยขณะนี้มีความต้องการเชฟทักษะสูงกว่า 1,000 ตำแหน่งในออสเตรเลีย

“การวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมอาหารไทยตำรับชาววังสู่ตลาดสากลในครั้งนี้นำโดย ผศ.ดร.ชุมพล รอดแจ่ม ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย และ ผศ.ดร.ชลภัสสรณ์ สิทธิวรงค์ชัย คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยทั้งคู่เน้นย้ำการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกวัฒนธรรมอาหารไทย ผศ.ดร.ชุมพล กล่าวว่า "ความสำเร็จในครั้งนี้แสดงถึงศักยภาพในการนำภูมิปัญญาไทยไปประยุกต์ใช้ในเวทีสากล ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลักจาก บพข. ในการพัฒนานวัตกรรมอาหารให้ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ" ในขณะที่ผศ.ดร.ชลภัสสรณ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ยินดีให้ความร่วมมือกับสถานกงสุลไทย นครซิดนีย์ สมาคมร้านอาหารไทยแห่งประเทศออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาศักยภาพอาหารไทยด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ร่วมกับบพข.ต่อไป”

               

การเข้าร่วมงานครั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นการทดสอบตลาดจริง แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานกงสุล ผู้ประกอบการ และนักวิจัย ที่ร่วมขับเคลื่อนกับ บพข.แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันและส่งออกวัฒนธรรมอาหารไทย 1 ใน Soft Power ก้าวสู่ตลาดสากลอย่างมั่นคงและยั่งยืน