นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ T Mark มาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 โดยมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในคุณภาพสินค้าและบริการของไทยในสายตาของผู้นำเข้าในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและบริการของไทยในเวทีการค้าโลก กรมจึงได้ริเริ่มตราสัญลักษณ์ T Mark ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการแบรนด์ไทยในต่างประเทศ
"ปัจจุบันตราสัญลักษณ์ T Mark ไม่เพียงสร้างการจดจำและการรับรู้ถึงความเป็นสินค้าและบริการไทยที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ยังสะท้อนถึงการดำเนินงานของผู้ประกอบการไทยที่ใส่ในการดำเนินธุรกิจ มีการบริหารจัดการที่ดีทั้งด้านการผลิต การใช้แรงงานที่เป็นธรรม การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคมด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ที่ต่างประเทศให้ความสำคัญ โครงการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ T Mark จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของการสร้างแบรนด์ประเทศไทยในด้านการค้าและบริการ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก โดยในระยะต่อไป กรมฯ มีแผนที่จะประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ตราสัญลักษณ์ T Mark เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นตลาดเป้าหมาย ได้แก่ จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีความชื่นชอบและยอมรับในคุณภาพของสินค้าและบริการไทย นอกจากนี้ กรมยังมีแผนจะยกระดับการสร้างภาพลักษณ์ตราสัญลักษณ์ T Mark สู่การเป็นตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็น "แบรนด์ประเทศไทย" อีกด้วย"
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เคยได้รับตราสัญลักษณ์ T Mark รวมทั้งสิ้น 886 บริษัท 1,117 แบรนด์ และ 6,996 รายการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่คงสถานะเป็นสมาชิก T Mark มีจำนวน 280 บริษัท เนื่องจากต้องมีการต่ออายุสมาชิกทุก 3 ปี
สำหรับในปี 2567 มีผู้ประกอบการสมัครขอรับตรา T Mark ทั้งสิ้น 305 บริษัท ผ่านการพิจารณารวม 99 บริษัท แบ่งเป็น กลุ่มผู้สมัครรายใหม่ 30 บริษัท และกลุ่มที่ขอต่ออายุ 69 บริษัท รวมทั้งสิ้น 54 แบรนด์ 486 รายการ โดยในปีนี้ กรมได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ T Mark ตลอดจนสินค้าและบริการของสมาชิก T Mark ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดต่างประเทศ อาทิ การจัดนิทรรศการแสดงสินค้า T Mark ภายในงานแสดงสินค้านานาชาติที่กรมจัดในประเทศไทย จำนวน 3 งาน ประกอบด้วย งาน STYLE งาน THAIFEX และงาน RHVAC และการประชาสัมพันธ์ตรา T Mark ในต่างประเทศ ได้แก่ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกัมพูชา ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ กรมยังได้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า T Mark ในต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองการใช้ตราสัญลักษณ์ T Mark จำนวน 58 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน 9 ประเทศ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม) เอเปค 14 ประเทศ (รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ชิลี ปาปัวนิวกินี เปรู สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ตะวันออกกลาง 5 ประเทศ (สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ตุรกี อิสราเอล อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย) อินเดีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสหภาพยุโรป 28 ประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้นำเข้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมถึงป้องกันการลอกเลียนแบบสินค้าไทยด้วย
สำหรับผู้สนใจขอรับตราสัญลักษณ์ T Mark ไปใช้ สามารถศึกษารายละเอียดการสมัครและยื่นเอกสารการสมัครผ่านระบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thailandtrustmark.com โดยกรมมีกำหนดรอบพิจารณาคัดเลือกจำนวน 3 ครั้งต่อปี ดังนี้
รอบที่ 1 กำหนดพิจารณาเดือนธันวาคม เปิดรับสมัคร ตุลาคม-พฤศจิกายน
รอบที่ 2 กำหนดพิจารณาเดือนเมษายน เปิดรับสมัคร กุมภาพันธ์-มีนาคม
รอบที่ 3 กำหนดพิจารณาเดือนสิงหาคม เปิดรับสมัคร มิถุนายน-กรกฎาคม
ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมแบรนด์ประเทศด้านการค้า สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า หมายเลขโทรศัพท์ 0 2507 8271