ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 72(1) ได้บัญญัติให้มีการวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำแผนการใช้ที่ดินระดับตำบลอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน และจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน กรมพัฒนาที่ดินจึงได้จัดทำแผนการใช้ที่ดินระดับตำบลให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดินการเกษตร โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชนตามบริบทของพื้นที่ ครอบคลุมรายละเอียดหลายด้าน ได้แก่ การวางแผนการผลิต การอนุรักษ์ดินและน้ำ การเตรียมดิน การจัดการอินทรียวัตถุ การจัดการธาตุอาหารพืช การจัดการน้ำในดิน รวมทั้งการควบคุมศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ
นายชาคริต อินนะระ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน เปิดเผยว่า กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน ได้ดำเนินการตามแนวทางและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนการใช้ที่ดิน โดยส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกรในการพัฒนาพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ตามแผนฯ ผ่านโครงการต่างๆ เป็นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ สำหรับวางแผนการใช้ที่ดินและให้ข้อมูลการจัดการดินในพื้นที่เกษตรรายแปลง โดยให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในตำบลของตนเอง มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในตำบลให้ดีขึ้น เกิดผลเป็นรูปธรรม “เกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ มีอาชีพมั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 ร่วมกับกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน ดำเนินงานวางแผนการใช้ที่ดินระดับตำบล โดยพิจารณาภาพรวมของสภาพปัญหาในด้านกายภาพของที่ดิน เศรษฐกิจ และสังคม วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลนำไปสู่การวางแผนการใช้ที่ดินที่สอดคล้องกับ ศักยภาพของพื้นที่ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน (PRA) เพื่อรู้ปัญหา ทราบความต้องการของ เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนอกพื้นที่ ทั้งนี้สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี ได้จัดทำแผนกิจกรรม/โครงการ เพื่อขับเคลื่อนแผนการใช้ที่ดินระดับตำบลให้เป็นรูปธรรม เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสมรักษาสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชน ให้เกิดความยั่งยืน
นายพินิจ งาเนียม ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 19,500 ไร่ กว่าร้อยละ 70 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว รองลงมาเป็นการปลูกไม้ผล และพืชผักตามลำดับ และจากการจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน (PRA) พบว่าปัญหาหลักของตำบลราษฎร์นิยม คือ ดินขาดความอุดมสมมบูรณ์ ดินเสื่อมโทรม ปัญหาน้ำเสีย น้ำเค็มรุก ขาดแคลนน้ำ รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ตำบลราษฎร์นิยม สถานีพัฒนาที่ดินนนทบุรีจึงได้นำเสนอแผนการใช้ที่ดินระดับตำบลต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงจังหวัดนนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแผนการใช้ที่ดินตำบลราษฎร์นิยม ในการพัฒนาพื้นที่ตัวอย่างอย่างเป็นระบบ โดยได้วางแผนร่วมบูรณาการ พัฒนาพื้นที่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการในจังหวัดนนทบุรี ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำสำหรับทำการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มสาธารณูปโภคพื้นฐาน องค์ความรู้ด้านการเกษตร ตลอดจนการตลาดของสินค้าเกษตรในตำบล จะเห็นได้ว่าแผนการใช้ที่ดินตำบลราษฎร์นิยม มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสมรักษาสภาพแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป