จากปัญหาต้นทุนการผลิตสูงด้านการเกษตรของประเทศไทย สินค้าการเกษตรล้นตลาด รวมถึงปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ เกิดความไม่สมดุลระหว่างผลผลิตของสินค้าเกษตรกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว คือเกษตรกรจำนวนมากผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่กิจกรรมการผลิตที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เป็นการสนับสนุน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โดย บูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต ให้แก่เกษตรกร สำหรับพื้นที่ระดับความเหมาะสมเล็กน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) มีมาตรการ ส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจเกษตรกรปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตสินค้าตามความ เหมาะสมของศักยภาพพื้นที่ อันจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายชาคริต อินนะระ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน (กนผ.) กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เป็นนโยบายสำคัญ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศให้เกิด ประโยชน์มีประสิทธิภาพตรงตามศักยภาพของที่ดินและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากที่สุด โดยจะการกำหนดเขตเหมาะสมในการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ ในการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูลภูมิอากาศ ดิน น้ำ สภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ นำมาประกอบกับข้อมูลความต้องการในการผลิตพืช สัตว์ ประมง ในแต่ละชนิด รวมทั้งวิเคราะห์ร่วมกับความต้องการของตลาด เพื่อหาความเหมาะสมของการทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีผลกำไรที่ สูงกว่าการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุน จูงใจ ให้ข้อมูลและคำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเป็นความสมัครใจและความพึงพอใจของเกษตรกรเป็นหลัก
นายวิชาญ นามอาษา เกษตรกรต้นแบบ บ้านวังแสง ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กล่าวว่า พื้นที่ทำการเกษตร 45 ไร่ มีการทำนาเพียงอย่างเดียว และเลี้ยงวัว ประมาณ 10 ตัว เป็นการเลี้ยงแบบปล่อย ประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน เนื่องจากแหล่งน้ำไม่เพียงพอต่อผลผลิต เป็นดินลูกรัง ความอุดมสมบรณ์ต่ำ ได้ทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาร่วมโครงการจำนวน 15 ไร่ มีการปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 5 ไร่ พืชผักผลไม้ 3 ไร่ คอกสัตว์และแหล่งน้ำ 2 ไร่ โดยบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็ได้รับประโยชน์จากโครงการเช่นเดียวกัน มีการเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติมโดยใช้ระบบโซล่าเซลล์เพื่อเป็นการเติมน้ำลงในบ่อและคลอง ไม่ให้น้ำลดมากเกินไปในหน้าแล้ง มีการขยายขนาดกิจกรรมด้านปศุสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเลี้ยงวัวกว่า 50 ตัว ส่งผลให้มีรายได้จาการขายวัว และขายมูลวัว มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดและไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น กล้วย ฟักทอง พริก ตะไคร้ ข่า ซึ่งทำให้มีรายได้หมุนเวียนทุกวัน และเพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในครัวเรือนมากขึ้น
ปัจจุบัน นายวิชาญ นามอาษา กลายเป็นเกษตรกรต้นแบบของการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน และเป็นศูนย์เครือข่าย ศพก. ด้านปศุสัตว์ สามารถปลูกพืชหมุนเวียน และมีรายได้ตลอดปีได้ และยังเป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมีแผนการใช้พื้นที่เพื่อสร้างอาชีพที่เป็นรายได้หลักของครอบครัว โดยการใช้พื้นที่ต้นแบบในการทำเกษตรแบบผสมผสาน ขยายพื้นที่ปศุสัตว์ และพืชอาหารสัตว์ ให้กับเกษตรกรที่สนใจ มาศึกษาดูงาน แล้วนำกลับไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองได้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และหารายได้เพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ