บทความพิเศษ

ไฟใต้ที่ปะทุต่อเนื่องมายาวนาน นอกเหนือจากผู้ก่อการจะใช้วิธีการเข่นฆ่าไม่เลือกหน้าอย่างอำมหิตแล้ว ยังมีปฏิบัติการในเชิงจิตวิทยาสร้างประเด็นต่างๆ มาใช้ปลุกระดมมวลชนต่อต้านอำนาจรัฐ โดยมีเอ็นจีโอ และนักการเมืองบางกลุ่มคอยให้การสนับสนุนแบบเป็นขบวนการ

ล่าสุดได้มีการหยิบยก “กรณีตากใบ” มาโหมกระพือในโลกโซเชียลอีกครั้งว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่จุดชนวนให้เกิดความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วก่อนเกิดกรณีตากใบ มีการก่อเหตุรุนแรงมากมายนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งระเบิดสถานีรถไฟ ระเบิดสนามบิน เผาโรงเรียน ฆ่าครู ฆ่าตำรวจผู้พิพากษา ฆ่าตัดคอพระ ระเบิดข้างที่ประทับ วางเรือใบขบวน VIP โปรยใบปลิวโจมตี VIP ปล้นปืนทหาร ปล้นปืนตำรวจ ป่าไม้ นย. อส. เผาโรงพัก ไล่ยิงประชาชนเจ้าของสวนเพื่อเอาที่ดินโดยมีเส้นทางสนับสนุนเงินจากต่างประเทศ

และเมื่อย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงกรณีตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 นั้น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้มีการประกาศให้ผู้ประกอบการธุรกิจตลาดร้านค้าหยุดทำการ และเชิญชวนมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัว 6 ผู้ต้องหา และพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา โดยได้เดินเข้าออก เจรจาในม็อบถึง 3 ครั้ง  พร้อมทั้งเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอิหม่ามตากใบ พ่อแม่ผู้ต้องหาร่วมหารือในที่เกิดเหตุ และพลเอกพิศาลได้เสนอใช้ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ประกันตัวผู้ต้องหา แต่เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ ศาลหยุดทำการ จึงขอดำเนินการประกันตัวให้ในวันจันทร์ แต่ผู้ชุมนุมไม่ยินยอม และประกาศให้ต้องปล่อยตัวภายในเวลา 15.00 น.ของวันนั้น

พลเอกพิศาลได้ขอให้อิหม่ามตากใบ และปลัดจังหวัดร่วมเจรจาทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม แต่นอกจากไม่ได้รับการสนองตอบแล้ว ยังมีขว้างปาสิ่งของใส่ และลุกฮือ มีการใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนมาก  จนเกิดเหตุชุลมุนมีการเหยียบกันเสียชีวิต เนื่องจากผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่จำกัด ซ้ำรอยหลายๆ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น เหตุที่สะพานไทย-กัมพูชาวันลอยกระทงเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เหตุที่สนามฟุตบอลในประเทศอังกฤษ เหตุระหว่างการทำพิธีที่เมกกะ และเหตุในประเทศเกาหลีใต้ที่มีการเหยียบกันจนเกิดโศกนาฏกรรมเสียชีวิตหลายร้อยคน

กระทั่งสถานการณ์บีบให้ต้องมีการสลายการชุมนุม โดยได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมกว่าพันราย และเคลื่อนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถในลักษณะให้ยืนไป เนื่องจากเป็นเหตุฉุกเฉิน รถมีจำนวนจำกัด และเมื่อออกรถ ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดการล้มทับกัน ซึ่งในระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและส่งไปให้บรรณาธิการเพื่อตีพิมพ์ และในช่วงเวลาเดียวกันดังกล่าวนั้น หนังสือพิมพ์มติชนยืนยันว่า หลังพลเอกพิศาลได้ทราบเหตุที่เกิดขึ้น ได้สั่งการให้นำผู้ชุมนุม ลงจากรถ และให้มีการนำรถมาเพิ่มเติมอีก 26 คัน พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ชุมนุมนั่งไป จากนั้นพลเอกพิศาลได้เดินทางกลับไปยังพระตำหนักเพื่อปฏิบัติภารกิจในการถวายอารักขา

ต่อมาขบวนเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธฯ ได้ถูกขัดขวางด้วยการวางตะปูเรือใบ เผายางรถยนต์ เอารถประมาณ 5-7 คันมาปิดกั้นถนน ทำให้การเคลื่อนย้ายที่ควรจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง กลายเป็น 3 ชั่วโมงกว่า และรถคันสุดท้ายต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ในช่วงละศีลอด และบอบช้ำจากเหตุชุลมุนทยอยเสียชีวิตบนรถ ซึ่งหากรถขนผู้ชุมนุมเดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธฯตามเวลาที่กำหนดไว้ คงไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุเศร้าสลดดังกล่าว พลเอกพิศาลได้ออกมาแสดงความเสียใจ และประกาศขอย้ายตนเอง ยินดีให้มีการสอบสวน และดำเนินคดีทางศาลทุกกรณี ด้วยมั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมทั้งได้ขอหารือเพื่อให้มีการเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

การที่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีตากใบนั้น การพิจารณาสืบพยานคงต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมต้องไม่ละเลยความเป็นจริงที่เกิดขึ้น กระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าใครกันแน่ควรเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้ปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมก่อเหตุรุนแรง กลุ่มที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม หรือเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ยับยั้งไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย