ด้วยสภาพอากาศของอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีลักษณะร้อนชื้น เป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำปาดไหลผ่าน ส่งผลให้ผลผลิตมะขามหวานที่ได้มีรสหวานอร่อย เนื้อร่อน ไม่ติดซัง ขายได้ราคาดี มีตลาดรองรับ เกษตรกรท่าฟากจึงนิยมปลูกเรื่อยมา ปัจจุบัน อำเภอฟากท่ามีพื้นที่ปลูกมะขามประมาณ 2,677 ไร่ ให้ผลผลิตราว 1,600 ตันต่อปี และเป็นของเด็ดที่ต้องห้ามพลาด โด่งดังจนมีชื่ออยู่ในคำขวัญของอำเภอที่ว่า “ห้วยเทิบสวยงาม มะขามหวานฉ่ำ ลือนามปู่ตา ผ้าทอลือไกล” 

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แปลงใหญ่มะขาม วิสาหกิจชุมชน กลุ่มมะขามแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ประกอบด้วยเกษตรกรสมาชิกรวม 56 ราย จากหมู่ที่ 4, 5 ตำบลสองห้อง และหมู่ที่ 1, 3, 6 ตำบลบ้านเสี้ยว พื้นที่ปลูกรวม 348 ไร่ ทั้งนี้สมาชิกได้รับการรับรอง GAP แล้วถึง 35 ราย พันธุ์ที่นิยมปลูกคือพันธุ์ศรีชมภู มะขามสีทอง มะขามเปรี้ยว และมะขามฝักใหญ่ สำหรับการจำหน่ายจะมีหลายรูปแบบตั้งแต่การขายแบบเหมาสวน ราคาเฉลี่ยไร่ละ 6,000 บาท รวมขายแบบไม่คัดเกรดจะราคาเฉลี่ยไร่ละ 8,800 บาท แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่จะส่งเสริมให้สมาชิกคัดเกรดมะขามก่อนจำหน่าย อย่างมะขามศรีชมภู เกรด A ขายได้ราคา 55 - 60 บาทต่อกิโลกรัม เกรด B ราคา 28 - 35 บาทต่อกิโลกรัม และเกรด C ราคา 15 - 28 บาทต่อกิโลกรัม มะขามสีทอง เกรด A ราคา 55 - 60 บาทต่อกิโลกรัมเกรด B ราคา 28 - 35 บาทต่อกิโลกรัม และเกรด C ราคา 15 - 28 บาทต่อกิโลกรัม มะขามเปรี้ยว

ขายแบบแกะเปลือก ราคา 17 บาทต่อกิโลกรัม แบบแกะเปลือกและสาแหรก ราคา 22 บาทต่อกิโลกรัม และแบบแกะเมล็ด 35 - 60 บาทต่อกิโลกรัม มะขามฝักใหญ่ ขายฝักดิบ 10 บาทต่อกิโลกรัม หากแกะเมล็ด 35 - 60 บาทต่อกิโลกรัมทำให้มีรายได้ 22,000 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 13,200 บาทต่อไร่ รวมทั้งแปรรูปผลิตภัณฑ์ส่งขายสร้างมูลค่าเพิ่มเช่น มะขามคลุกบ๊วย มะขามแช่อิ่ม มะขาม 3 รส กล้วยไส้มะขาม มะขามแช่อิ่มอบแห้ง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาด้านราคาและการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเกษตรกรจะมีรายได้หมุนเวียนจากมะขามตลอดทั้งปี 

นอกจากการใส่ใจด้านการผลิตและการขายที่มีคุณภาพแล้ว กลุ่มมีการตระหนักรู้ และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่เกษตร ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเพื่อความยั่งยืน ESG (Environmental -สิ่งแวดล้อม, Social - สังคม และ Governance - ธรรมาภิบาล) ที่ในอดีตเกษตรกรใช้สารเคมีเป็นหลัก ทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช และฮอร์โมนเร่งผลผลิต ซึ่งล้วนเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอีกด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทางกลุ่มจึงกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยการลดการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าตามแนวคิด Zero Waste นอกจากจะเป็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการผลิตที่ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ประหยัด นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาทำปุ๋ยหมักใช้เองจากเศษวัชพืช เปลือก กิ่งก้านหลังการตัดแต่ง ส่วนต่าง ๆ ของต้นใช้ทำถ่านหุงต้ม และถ่านไบโอชา เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใช้ปุ๋ยและสารเคมีตามหลักวิชาการและความจำเป็น ในส่วนของเม็ดหรือใบร่วง จะส่งมอบให้ผู้ประสงค์นำไปทำสีย้อมผ้ามัดหมี่

​​​​​​​

ปัจจุบันแปลงใหญ่มะขาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะขามแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเสี้ยว อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด “มะขามหวานสีชมพูทอง ฟากท่า”เพื่อรองรับการพัฒนาต่อยอดการทำธุรกิจของกลุ่มที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพิ่มยิ่งขึ้นในอนาคต สอดรับกับเป้าหมายของกลุ่มที่จะผลิตมะขามหวานอุตรดิตถ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ให้มีรสชาติอร่อยที่สุดในโลก