มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร พระอารามหลวง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 เวลา 10.00 น.
จึงขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทำบุญสมทบในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เพื่อสมทบถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน บำรุงวัด และทุนการศึกษาโดยเสด็จพระราชกุศลโดยพร้อมเพรียงกัน และเพื่อสืบสานประเพณีกาลกฐินให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป โดยสามารถทำบุญผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
1. โอนเงินผ่าน QR Code
2. โอนผ่านบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กฐินพระราชทาน)” เลขที่บัญชี 069-2-33838-7 ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และเลขที่บัญชี 235-2-12792-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สำหรับผู้โอนเงินผ่าน QR Code และ โอนผ่านบัญชีธนาคาร (บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป) โปรดสำเนาใบนำฝาก (Pay In) หรือหลักฐานการโอนเงินผ่าน QR Code พร้อมแบบฟอร์มบริจาค ส่งไปที่กองคลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Email : [email protected] โทรศัพท์ 02-942-8150 เพื่อดำเนินการจัดส่งข้อมูลเข้าระบบ E – Donation ของกรมสรรพากร โดยไม่ออกใบอนุโมทนาบัตร
3. เงินสด ผ่านทางกองคลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้น 3 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับประวัติวัดสิริจันทรนิมิตรวรวิหาร หรือที่ชาวลพบุรีเรียกว่า วัดเขาพระงาม ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่า “เขาบ่องาม” เนื่องจากสภาพที่ตั้งเป็นภูเขาและมีบ่อน้ำตามธรรมชาติที่มีลักษณะสวยงามปรากฏอยู่ ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของเชิงเขาพระงาม ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามถนนลพบุรี-โคกสำโรง ประมาณ 12.5 กิโลเมตร พื้นที่ตั้งของวัดมีเนื้อที่ 99 ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2466 และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ 2499 เดิมเป็นวัดร้าง สร้างมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่มีหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุในบริเวณวัดมากมาย อาทิ ซากฐานพระสถูปเจดีย์เก่าบนยอดเขา ซากกำแพงเก่าที่ปรากฏบริเวณเชิงเขา และ พระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำพญามังกร (ถ้ำภัทราวุโธ) สร้างด้วยศิลาแลงศิลปสมัยทวารวดี ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ปี พ.ศ. 2455 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระราชกวี” ได้พาพระครูปลัดภัทราวุโธ (อ่ำ) ซึ่งเป็นน้องชายของท่าน และพระมหาทา ( ฐิตวีโร) ออกเดินทางเพื่อหาสัปปายะสถานในการเจริญวิปัสสนา เมื่อเดินทางถึง “ถ้ำเขาบ่องาม” เห็นว่าเงียบสงัดดี ไม่มีพระสงฆ์ใดไปอาศัย ตัวปากถ้ำมีรูปร่างเป็นเงื้อมปากมังกรผินหน้าสู่ทิศตะวันออก เวลาบ่ายจะได้รับเงาจากภูเขาเย็นสบายดี คิดว่าเป็นมงคลสถาน จึงมีดำริที่จะสร้างวัดนี้ให้เป็นสถานที่ในการเจริญวิปัสสนา ได้เริ่มทำการก่อสร้างวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 เป็นต้นมา
การมาบูรณะและสร้างวัดเขาพระงามที่เมืองลพบุรีของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ถือเป็นจุดกำเนิดสำคัญที่ทำให้พระปฏิบัติดีหลายๆ รูปได้เข้ามาจำพรรษาและสร้างความเจริญให้แก่ชุมชน อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่า รวมไปถึงการขยายวัดสาขาในสายธรรมยุติกนิกายในอำเภอต่างๆของจังหวัดลพบุรี โดยวัดเขาพระงามมีบทบาทสำคัญในการส่งพระสงฆ์ที่มีความรู้ไปประจำตามวัดสาขาต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้นำทางปัญญาให้แก่ชุมชน
ที่มาของชื่อวัดและเจ้าอาวาสรูปแรก
ปี พ.ศ. 2466 ในงานผูกพัทธสีมา กลางเดือน ๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จเยี่ยม ทอดพระเนตรวิธีผูกพัทธสีมา และทรงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ช่วยในการปฏิสังขรณ์ 200 บาท ต่อมาใน พ.ศ. 2467 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระครูปลัดภัทราวุโธ (อ่ำ) เป็นพระครูศีลวรคุณให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาพระงามเป็นรูปแรก และพระราชทานนามวัดว่า “วัดสิริจันทรนิมิตร” และพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งพระโพธิวงศาจารย์ (จันทร์) เป็น “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์” ที่เจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล
สร้างโดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระครูปลัดภัทราวุโธ (อ่ำ) เป็นพระพุทธรูปสีขาวทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 11 วา สูงจากหน้าตักถึงยอดพระเศียร 18 วา เส้นพระศกทำด้วยไหกระเทียม เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนฤมิตรมัธยมพุทธกาล และในปี พ.ศ. 2469 จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล"
ในปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธียกฉัตรกางกั้นถวายแด่พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล หรือหลวงพ่อพระงาม ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นสง่า สามารถมองเห็นมาแต่ไกล เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนิยมเดินทางไปกราบสักการะและขอพรด้วยความเคารพศรัทธาอยู่เป็นเนืองนิจ
พระอุโบสถ
มีลักษณะพิเศษ คือ ก่อผนังด้วยก้อนหินที่หาได้จากบริเวณนั้น โดยก่อแล้วไม่ฉาบปูนและใช้ก้อนหินเป็นเสมานิมิตวางไว้ในตำแหน่งต่างๆของพระอุโบสถ หน้าบัญเป็นลวดลายปูนปั้นพญานาค 2 ตัวไขว้กัน เบื้องบนพญานาคทำเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว โดยมีความหมายว่า พญานาค 2 ตัว คือพระเถระ 2 รูป ผู้ริเริ่มสร้างวัดแห่งนี้ คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และ พระครูปลัดภัทราวุโธ (อ่ำ) สันนิษฐานว่า พญานาคเป็นนามปี ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ซึ่งเกิดในปีมะเส็ง ส่วนรูปพระจันทร์เสี้ยว หมายถึงพระนาม “สิริจันทร์” พระพุทธเพ็ชรรัตนสุวิทนามยมหามุนี ชินสีห์วิสุทธิโสภาค สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างถวายเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดสิริจันทรนิมิตวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2503 เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตรเศษ