โครงการเถ้าแก่ใหญ่ ซีพี นำร่องโครงการข้าวคาร์บอนต่ำ ตอกย้ำเป้าหมาย Zero Carbon ผนึกกำลังพันธมิตรทั้งภายในภายนอกองค์กร สนับสนุนชาวนาปลูกข้าวลดโลกร้อนป้อนซีพีเอฟทำข้าวกล่องเสิร์ฟผู้โดยสารสายการบินเวียดเจ็ท รวมถึงทุกเมนูข้าวของเชฟแคร์

หลังจากที่ซีอีโอของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ประกาศเป้าหมายความยั่งยืน 3 เป้าหมายใหญ่ คือ Zero Carbon, Zero Waste, และการศึกษา (Education) ซีพีได้เริ่มดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างจริงจัง โดยมีโครงการพัฒนาผู้นำเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนนี้ หนึ่งในโครงการนำร่องบนเส้นทางสู่เป้าหมายความยั่งยืน คือ โครงการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำที่ดำเนินการโดยโครงการเถ้าแก่ใหญ่ ซึ่งนำร่องแล้วที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สนับสนุนเกษตรกรผลิตข้าวอย่างยั่งยืนเพื่อลดโลกร้อน โดยมีการนำเทคนิคการทำเกษตรตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และระบบ FSA (Farm Sustainability Assessment) มาใช้เพื่อลดคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตข้าว

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนและการพัฒนากลยุทธองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์  หนึ่งในสปอนเซอร์ โครงการ Low Carbon Rice Product  ภายใต้การพัฒนาโครงการเถ้าแก่ใหญ่ (Senior Leadership Development Program หรือ SLP) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาผู้นำของซีพี  กล่าวว่า โครงการพัฒนาผู้นำของซีพีมุ่งเน้นการผนึกกำลังของผู้นำรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือ มาร่วมกันคิดและดำเนินโครงการที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสตอบสนองทั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจและเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทั้งโครงการเถ้าแก่น้อย เถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่กลาง และเถ้าแก่ใหญ่  สำหรับโครงการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice Product) เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ซีพีพัฒนาขึ้นมาโดยผนึกกำลังผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ตามนโยบายของนายศุภชัย เจียรวนนท์  โดยโครงการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ มีนายประสิทธิ์ ดำรงชิตานนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าวขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเจ้าของโครงการ มีสปอนเซอร์ร่วม 2 คนคือ นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจพืชครบวงจร และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนและการพัฒนากลยุทธองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมีสมาชิกทีมซึ่งเป็นเถ้าแก่ใหญ่จำนวน 6 คนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ทั้งจากซีพีเอฟ ทรู ซีพี ออลล์ กลุ่มธุรกิจพลาสติก โลตัส และกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร โดยโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิรักษ์โลก ป้อนให้พันธมิตรทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่มีเป้าหมายลดโลกร้อนเช่นเดียวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เสือกลับ ผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นเถ้าแก่ใหญ่ โครงการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ในโครงการ SLP เปิดเผยว่า โครงการนี้คือการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว ซึ่งร่วมกับบริษัทพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ดำเนินการโครงการผลิตข้าวหอมมะลิรักษ์โลก (Low Carbon Rice) พื้นที่กว่า 120,000 ไร่ โดยมี ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ ขับเคลื่อนงานด้านวิชาการ และ นายสุวิทย์ แซ่ย่อง ผู้บริหารธุรกิจฟาร์มโปรครบวงจร ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกร ต่อยอดจากการส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิของธุรกิจข้าวตราฉัตร ตามมาตรฐานการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งมี อาทิ การปลูกข้าวด้วยระบบ GAP (Good Agricultural Practices)  และการทวนสอบด้วยระบบมาตรฐาน FSA (Farm Sustainability Assessment)   ซึ่งคาดการณ์ว่าสามารถทำให้การผลิตข้าวสามารถลดคาร์บอนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดโลกร้อน โดยนำร่องที่อำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นับว่าเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทยที่ร่วมสร้างความยั่งยืน 

นายบุญเรือง มณีไสย์ ตัวแทนเกษตรกร อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การผลิตข้าวตามแนวทางการทำเกษตรยั่งยืน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีการอนุรักษ์ดินตรวจวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญมีการวางแผนการเพาะปลูกข้าวทำให้ใช้ธาตุอาหารพืชได้ถูกต้องเหมาะสม และการจัดการศัตรูพืชอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งมีการอบรมพัฒนาเกษตรกรได้รับความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการปลูกข้าวของตนเองให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น

นางสาวริญญภัสร์ ภัทรศักดิ์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ตัวแทนข้าวตราฉัตร กล่าวสรุปว่า การผลักดันครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของพันธมิตรด้านอาหาร อาทิ ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น,สายการบินเวียตเจ๊ทไทยแลนด์, และ Chef cares ที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการลดก๊าซเรือนกระจกได้พบกับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่สร้างข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่มุ่งมั่น ตั้งใจ ของทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการลดคาร์บอนภาคการเกษตรของไทย ลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำร่วมกัน สู่การแข่งขันด้านความยั่งยืนทางอาหารในระดับโลก โดยในโอกาสนี้คณะเถ้าแก่ใหญ่และพันธมิตรได้เข้าร่วมศึกษาดูงานพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อยกระดับสินค้าข้าวของไทยที่ปลอดภัยและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมส่งต่อผู้บริโภค