รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา กล่าวว่าพื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 มาเกือบ 20 ปี และเรื่องนี้ถือเป็น Pain Point ที่สำคัญของ มทร.ล้านนาที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาตลอด โดยสร้างความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน อย่างการหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) .ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องของทุนวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ ในการแก้ปัญหาเรื่องของฝุ่น PM 2.5 เพราะฝุ่น PM 2.5 ได้สร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
“ตอนนี้สภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตของคนภาคเหนือแตกต่างไปจากเดิม กำลังประสบปัญหากับฝุ่น PM 2.5 อย่างหนัก ส่งผลให้ธุรกิจหลายๆ แห่งต้องปิดตัวลง และผู้คนมีความเจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก มทร.ล้านนา ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาลดภาวะฝุ่น PM 2.5 โดยการจัดทำพื้นที่เชฟโซนให้ชุมชน อย่างพื้นที่ดอยสะเก็ด มีการจัดทำศูนย์พักพิง หรือ การสร้างนวัตกรรมเครื่องดักจับฝุ่น และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเผาป่า การแปรรูปอุตสาหกรรม พื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน” รศ.ดร.อุเทน กล่าวและว่า ทั้งนี้ 80-90% ของพื้นที่ภาคเหนือจะมีการแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร โดยใช้วิธีการเผาที่ทำให้เกิดฝุ่นควันได้ ดังนั้น มทร.ล้านนา จะมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร ชาวบ้านเปลี่ยนเผาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
รศ.ดร.อุเทน กล่าวอีกว่า มทร.ล้านนามีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 การสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก อาทิ ศ.ดร.พานิช อินต๊ะ เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรมและบรรณาธิการวารสารวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งได้ทำเรื่องการจัดการฝุ่นมาตั้งแต่ตอนทำวิจัยปริญญาเอก และได้มีผลงานนวัตกรรมการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มากมาย เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น เทคโนโลยีดักจับฝุ่น หรือเครื่องบำบัดอากาศระบบไฟฟ้าสถิต ที่มีการทำงาน 2 ขั้นตอนหลัก คือ การดักจับฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 ด้วยระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic ionizer) แล้วจึงฆ่าทั้งแบคทีเรียและไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศด้วยระบบนอนเทอร์มอลพลาสมา (Non-thermal plasma) ก่อนจะปล่อยอากาศสะอาดคืนสู่ภายนอก สามารถกำจัดฝุ่นออกจากอากาศได้มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99 เป็นต้น
รักษาการอธิการบดี มทร. ล้านนา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการไฟป่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดหมอกควันทางภาคเหนือ และฝุ่น PM2.5 ได้ อย่าง “ระบบเซนเซอร์” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อแจ้งเตือน และรู้พิกัดไฟป่า จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ทันควบคุมการลามของไฟป่าได้ เป็นการลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 อันเกิดจากไฟป่า และที่สำคัญลดการสูญเสียเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เพราะที่ผ่านมาเวลาเข้าไปดับเพลิงหากไม่รู้ทิศทางลมมีหลายครั้งที่เกิดความสูญเสียในพื้นที่ รวมถึงพัฒนา "Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า จากการเผาในที่โล่ง ร่วมกับทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อบริหารจัดการข้อมูลการแจ้งเหตุเผาไฟป่า และเข้าระงับเหตุได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว เป็นต้น โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ติดตั้งระบบและนวัตกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ
“อย่างไรก็ตาม มทร.ล้านนา ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทุกระดับ ทั้งระดับชุมชน จังหวัด และภายในมหาวิทยาลัย โดยในมหาวิทยาลัยจะมีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน มีการปลูกต้นไม้สีเขียวมากขึ้น และมีระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน รวมถึงการปลูกฝัง และขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บุคลากรทุกคนให้ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5” รศ.ดร.อุเทน กล่าว