Krungthai GLOBAL MARKETSค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.67 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.56-33.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ทิศทางเงินดอลลาร์ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อ-ขายทองคำ ซึ่งเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.4 แสนต่ำแหน่ง โดยในช่วงดังกล่าวราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด ดีกว่าคาดเล็กน้อย ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ก็ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาย่อตัวลงบ้าง ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นจากช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป อนึ่ง แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง แต่ตลาดก็ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Tesla +4.9%, Amazon +2.6% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.30%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.54% ท่ามกลางแรงขายบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Hermes -6.4% จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงแรงขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML -2.2% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่มสาธารณูปโภค อาทิ Enel +1.6% รวมถึงหุ้นกลุ่มการเงินส่วนใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นสวนภาพรวมตลาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ก่อนที่จะทรงตัวแถวระดับ 3.73% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะรายงานในช่วง 19.30 น. ของคืนวันศุกร์นี้ โดยเรามองว่า ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม จะส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอัตราการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมที่เหลือของปีนี้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าลง สลับแข็งค่าขึ้น ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ยอดการจ้างงานภาคเอกชนแย่กว่าคาด แต่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานและดัชนี ISM PMI ภาคการบริการออกมาดีกว่าคาด) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ก่อนจะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101-101.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่จะทรงตัวแถวระดับ 2,547 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทั้งซื้อและขายทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทเช่นกัน
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญกับ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงหลังรับรู้ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนาม จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนสิงหาคม ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เป็นต้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก (หลุดโซนแนวรับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่ประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับสถานะ (Cut Loss) ของผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงวันก่อนหน้า จากหลายปัจจัยทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดยเราย้ำมุมมองเดิมว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ
หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 1.6 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ก็ลดลงสู่ระดับ 4.2% ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หรืออาจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ โดยในกรณีนี้ ควรจับตาว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)
ในขณะที่ หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน อาทิ ยอดการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่ำกว่า หรือ ใกล้ 1 แสนต่ำแหน่ง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% หรือสูงกว่า ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนัก หรือ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงคาดหวังว่า เฟดต้องเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งต้องลุ้นว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อสู่โซน 33.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก อนึ่ง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่นั้น อาจต้องจับตาบรรยากาศในตลาดการเงิน ว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นหรือไม่
โดยเรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
#เงินบาท #เงินตรา #สยามรัฐ #ข่าววันนี้