แม้เป็นคนละประเทศ แต่ก็เกี่ยวโยงกัน จนมิอาจหลีกเลี่ยงไปได้
สำหรับ “รัสเซีย” ประเทศคู่ปรับตลอดกาลของ “สหรัฐอเมริกา” นับตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ แม้จะเป็นประเทศคู่ปรับ ทว่า ทั้งสองประเทศก็ยังเกี่ยวข้องในหลายมิติด้วยกัน แต่ในหลายมิติที่ว่า ก็มักจะเป็นการแทรกแซงระหว่างกันด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหารระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามแทรกแซงระหว่างกัน
อย่างในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 (พ.ศ. 2563) หรือเมื่อ 4ปีที่แล้ว ที่ผลปรากฏว่า นายโจ ไบเดน ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต เอาชนะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน จนส่งผลให้นายทรัมป์ ต้องกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปนั้น ก็มีรายงานจากทางหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ว่า รัสเซียพยายามเข้ามาแทรกแซงต่อการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว โดยเฉพาะผ่านระบบไซเบอร์ แต่ผลการเลือกตั้งก็ไปทางฝั่งตรงข้ามของรัสเซีย คือ ไปในทางของนายไบเดน ไม่ใช่นายทรัมป์ ที่ทางฝ่ายรัสเซีย แสดงท่าที่ว่าจะสนับสนุนผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกันรายนี้มากกว่า
นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งเป็นการชิงชัยกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน กับนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครต ที่ปรากฏว่า นายทรัมป์ เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ก็มีรายงานจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ อีกเช่นกันว่า รัสเซียพยายามเข้ามาแทรกแซงด้วยปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงการเจาะระบบ หรือแฮ็ก ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับแผนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทางฝั่งนางฮิลลารี แห่งพรรคเดโมแครตด้วย โดยมีรายงานว่า ทางรัสเซีย ใช้หน่วยงานด้านข่าวกรองทางการทหารของทางกองทัพ คือ “จีอาร์ยู” ลอบเข้ามาเจาะระบบ หรือแฮ็ก ข้อมูลของคณะกรรมาธิการพรรคเดโมแครตแห่งชาติ หรือดีเอ็นซี กันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ทางการรัสเซีย โดยหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ หรือหน่วยเอสวีอาร์ ก็ออกมากล่าวอ้างเช่นกันว่า สหรัฐฯ ก็เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซียด้วยเหมือนกัน ด้วยการเจาะระบบ หรือแฮ็ก ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของในหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งของรัสเซีย อย่างในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซีย เมื่อช่วงเดือนมีนาคมต้นปีนี้ ที่หน่วยข่าวกรองต่างประเทศของรัสเซีย ระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พยายามที่จะเจาะระบบไซเบอร์เข้ามา แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย คู่ปรปักษ์ของสหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
ล่าสุด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 (พ.ศ. 2567) ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนปลายปีนี้ ทางรัสเซีย มีปฏิกริยาเป็นประการต่างๆ จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หลายคนก็กำลังเฝ้าจับตามองเช่นกัน
เริ่มจากกระแสเสียงของประชาชนชาวรัสเซีย ที่ปรากฏว่า ยังคงชื่นชอบต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน มากกว่านางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครต
สอดคล้องกับการรายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้เช่นกัน รัสเซียอยากเห็นอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ มากกว่าที่จะเป็นรองประธานาธิบดีแฮร์ริส
นอกจากนี้ ในรายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ก็ระบุไว้เช่นกันว่า หากกล่าวถึงในระดับรัฐบาล ปรากฏว่า ทางการครมลิน คือ รัฐบาลรัสเซีย ในกรุงมอสโก ก็แสดงถึงท่าทีที่จะสนับสนุนต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ทันทีที่ทั้งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรครีพับลิกัน และรองประธานาธิบดีแฮร์ริส เป็นผู้สมัครฯ ของทางพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา
ถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า รัฐบาลรัสเซีย กำลังพยายามหาทางสนับสนุนต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อให้ได้เข้าสู่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้กันเลยทีเดียว
ด้วยเหตุปัจจัยหลัก ก็มาจากการที่รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ประกาศเดินหน้าที่จะสนับสนุนต่อยูเครน ในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย เป็นประการต่างๆ นั่นเอง ทั้งด้วยเม็ดเงินงบประมาณ และอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลาย ที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนให้ ซึ่งรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ประกาศแสดงท่าทีข้างต้นทั้งในระหว่างที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อแสวงหาการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทางการสหรัฐฯ รวมถึงจากการที่รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ประกาศว่าจะให้การสนับสนุนต่อยูเครน คิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระหว่างที่เธอเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสันติภาพ ที่นครลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย สร้างความไม่พอใจให้แก่รัสเซียเป็นอย่างยิ่ง
โดยทั้งเม็ดเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่สหรัฐฯ มอบให้ ก็ไม่ผิดอะไรกับการต่อลมหายใจของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อยาวนานออกไป
ขณะที่ ทางฝั่งของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศถึงท่าทีเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่า หากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็จะพยายามทำให้สงครามดังกล่าว ยุติไปภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ แม้คำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ดูอาจจะเกินเลย หรือโอเวอร์ แต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็แสดงปฏิกริยาต่อคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจของนายทรัมป์
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นของนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กลับได้ความว่า รัสเซียมองว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริส เป็นอะไรที่คาดเดาได้ง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนางแฮร์ริส ก็ไม่ผิดอะไรกับพลพรรคอื่นๆ ของเดโมแครต เรียกว่า เดาทางได้ง่ายกันทั้งพรรคว่าจะเอาอย่างไร และตนก็ไม่เชื่อว่า นายทรัมป์ หากได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว จะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ในชั่วข้ามคืน