ททท.ริเริ่มการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม สู่ Smart Tourism ส่งเสริมชุมชนใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ บูรณาการงานฝีมือชุมชนบ้านเหมืองกุง และประเพณีที่สูญหาย ขยายสู่งานคราฟต์ไม่รู้จบ 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดำเนินโครงการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ทรัพย์สินของททท. ในพื้นที่ชุมชนหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นแนวนโนบายในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อยอดพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Tourism 

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการทำงานในเชิงนวัตกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร และผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมทางการท่องเที่ยว (Travel Tech Startup)  อันเป็นโครงการหนึ่งที่ ททท.ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคบริการและการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มเป้าหมายมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ  พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างทั่วถึง และยั่งยืนตามหลัก Sustainable Tourism Goals : STGs 

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการนำนวัตกรรมมาต่อยอดให้กับสินค้า และบริการในชุมชนที่บ้านเหมืองกุง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเลือกใช้เครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าการท่องเที่ยว โดยทั้งหมดชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ  

รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท.เปิดเผยด้วยว่า ความพยายามในการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชนเป็นเป้าหมายสำคัญของ ททท. โครงการนี้จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ และทักษะที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการ (Upskill/Reskill) สร้างโอกาสในการต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการทางท่องเที่ยวให้พร้อมทางการขาย และส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนร่วมกับพันธมิตรในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่บ้านเหมือนกุง

ทั้งนี้ การฟื้นคืนมาของ“หม้อดอก” หรือ “หม้อสังขานต์” โดยช่างปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการฯ ที่ไม่เพียงช่วยส่งเสริมให้วัฒนธรรมที่สูญหายไปให้กลับคืนมา แต่ยังพัฒนาในรูปเส้นทางการท่องเที่ยว

หม้อดอก หรือหม้อสังขานต์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ตามคติล้านนา ชุมชนต่างๆ จะจัดช่อดอกไม้ ประดับตุงชัยในหม้อน้ำต้นในเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และการเริ่มต้นอย่างเป็นมงคล แต่กิจกรรมนี้ก็ค่อยๆ สูญหายไปพร้อมกับความนิยมในการใช้หม้อน้ำต้นที่ลดลง 

ต่อมามีการรื้อฟื้นประเพณีดังกล่าวขึ้นใหม่ โดยใช้หม้อน้ำต้นบ้านเหมืองกุงที่มีลวดลายเฉพาะเปรียบเหมือน DNA ของท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ อีกทั้งยังผสมผสานกับการทำตุงชัย การจัดดอกไม้ที่สร้างสรรค์นับเป็นการเชื่อมโยงไปสู่งานคราฟต์ได้อย่างหลากหลาย และกลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้น 

“การรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกที่เกือบสูญหายไปแล้วขึ้นมาใหม่ ในช่วงเวลาที่นับเป็นวาระพิเศษที่เทศกาลสงกรานต์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก เป็นการเฉลิมฉลองประเพณีอันดีงาม และมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญอย่างมีคุณค่า งดงาม และเชื่อมโยงไปยังศิลปะหัตถกรรมอื่นๆ ได้อย่างไม่รู้จบ นี่คือตัวอย่างของการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นสู่ Smart Tourism อย่างแท้จริง” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าว