“เมฆินทร์ เอี่ยมสอาด” ย้ำ กก.บริหารประชาธิปัตย์ ไม่มีวันขับ “ชวนหลีกภัย” ออกจากพรรค ขอประชาชนเข้าใจร่วมรัฐบาล ยังย้ำจุดยืนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ขอโอกาส “เฉลิมชัย” ได้ทำงาน
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.67 นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเปิดใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ หลังตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลตามคำเชิญของพรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2566 ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.25 คน ซึ่งถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ของพรรค ในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น คือ ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในการยื่นญัตติ หรือ ตั้งกระทู้ถาม ถือว่า เราทำได้ดี
ส่วนกระแสความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ นั้น นายเมฆินทร์ เล่าย้อนหลังให้ฟังว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมือง มาอย่างยาวนาน และปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเปลี่ยนผู้บริหารในแต่ละครั้ง ก็อาจจะมีการไม่ลงรอยกันบ้าง แต่ทุกคนร่วมทำงานกัน ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปี 2566 ได้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ซึ่งตลอดเวลาที่ตนเองเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มานาน ในการเลือกตั้งผู้บริหารพรรคในแต่ละครั้ง เราใช้องค์ประชุม 250 คนขึ้นไป ซึ่งทุกคนได้รับการยอมรับจากสมาชิก ส่วนตัว ให้ความสำคัญกับสถาบันมากกว่าตัวบุคคล เพราะตนเองเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์
ฉะนั้นการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในรอบที่ผ่านมา ที่ได้ดร.เฉลิมชัย มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็เกิดความโกลาหล เหมือนที่สังคมทราบ มีองค์ประชุมล่มไป 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือน กรกฎาคม และอีกครั้งคือช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนครั้งที่ประสบความสำเร็จ สามารถเลือกหัวหน้าพรรค คือ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2566 ตนเองอยู่วงใน ทราบดีว่า ดร.เฉลิมชัย ไม่ได้มีความต้องการที่จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้าเดือน กรกฎาคม องค์ประชุมครบ จะได้หัวหน้าพรรคคือ นายนราพัฒน์ แก้วทอง แต่องค์ประชุมล่มมาถึง 2 ครั้ง กระทั่งการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2566 กลุ่มส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้ดร.เฉลิมชัย มาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะหากไม่ขึ้นมารับตำแหน่ง อาจจะเกิดโกลาหลขึ้นได้ ดร.เฉลิมชัย ก็ยอมที่จะรับตำแหน่ง
ส่วนปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า พรรคก่อตั้งมาปีที่ 78 ย่างเข้าสู่ปีที่ 79 เป็นบ้านที่มั่นคงแข็งแรง ผ่านร้อนผ่านหนาวทุกยุคทุกสมัย แต่ด้วยยุคโลกาภิวัฒน์ การเลือกตั้งเปลี่ยนไป ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ทำให้เราอาจจะตามไม่ทัน ในการเลือกตั้งในปี 2562 เหลือผู้สมัคร 52 คน คิดว่า น่าจะเป็นช่วงที่มีส.ส. ต่ำที่สุด แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2566 เหลือจำนวน ส.ส.เพียง 25 คน ส่วนหนึ่งเกิดจากความที่เราไม่มีเอกภาพกัน คนที่ออกไป ซึ่งในอดีต เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาได้รับประโยชน์จากพรรค ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยม เหมือนกับพรรคประชาชน ในปัจจุบันนี้ จนถึงขั้นมีคำกล่าวที่ว่า เอาเสาไฟฟ้าลงสมัคร ก็สอบได้ แต่ปัจจุบันนี้ การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว บางท่านสอบตก 2 สมัย เชื่อว่า น่าจะไปไม่ไหว และก็ลาออกไป แต่ไม่ได้ลาออกไปเฉยๆ กลับให้ร้ายพรรค ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียหาย โดยการประชุมพรรคเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการดีเบทกันในเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย มติกรรมการบริหารพรรคเป็นเอกฉันท์ 34 เสียง ซึ่งแต่ละคนก็มีวุฒิภาวะกันทุกคน บางคนเป็นอดีต ส.ส. ที่ไม่มีใครจะเข้าไปสั่งได้
นายเมฆินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล ว่า ตนเองในฐานะโหวตเตอร์ ตอนแรกก็รู้สึกลำบากใจมาก แต่เมื่อได้คิดพิจารณาชั่งน้ำหนักดู ระหว่างเข้าร่วมรัฐบาลกับไม่เข้าร่วม แต่เมื่อคิดว่าการเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้เรามีพื้นที่ มีผลงานที่จะไปตอบกับพี่น้องประชาชนได้ โดยอุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในนั้นคือเรื่องซื่อสัตย์สุจริต และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค เคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง ไม่เคยมีข้อครหาเรื่องคอรัปชั่น ส่วนตัวเชื่อมั่นในผู้นำ เพราะมีความเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด ตรงนี้ก็เป็นเงื่อนไขอยู่แล้วว่า และพบว่า รัฐบาลมีเรื่องของคอรัปชั่น วันนั้นก็จะมาพิจารณากันอีกครั้ง ผ่านกรรมการบริหารพรรคว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ แต่ขอโอกาสให้ ดร.เฉลิมชัย ได้ทำหน้าที่ก่อน
ส่วนกระแสข่าวเรื่องของการจะขับ นายชวน หลีกภัย ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ นั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และหากวันใด ที่มีการขับนายชวนออกจากพรรค ตนเองก็พร้อมจะเดินออกไปพร้อมกับท่านด้วย แต่ในเรื่องของการเมืองต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากไม่เหมือนเดิม ไม่ได้เป็นพรรค 2 ทางเลือกเหมือนเดิม แต่ยังมีอีกหลายพรรคให้ประชาชนได้เลือกได้ตัดสินใจ ซึ่งหากมีการเลือกตั้งจนถึงวันนั้น ก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนจะไปอยู่ตรงไหน
นายเมฆินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีการสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และประชาชน โดยยกตัวอย่าง นายอลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งเป็นถึงกรรมการบริหารพรรค ได้พูดในที่ประชุมพรรคในขณะนั้นว่า ขออาสาไปลงสมัคร ส.ส. เขต ในจ.เพชรบุรี เมื่อการเลือกตั้งในปี 2566 ที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่า การตัดสินใจของนายอลงกรณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดอิมแพค ได้ว่า อดีต ส.ส. ที่มีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ และลงสมัคร รับเลือกตั้ง แบบเขต จะทำให้เกิดความนิยมได้ ไม่จำเป็นต้องมากระจุกกันอยู่ในแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งหากเป็นบัญชีรายชื่อ อยากให้เป็นคนรุ่นใหม่ๆมากกว่า เพราะปัจจุบันนี้ พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไปแล้วเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น และพรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายอะไรใหม่ๆหลายอย่าง เช่น ในทุกเดือนที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ จะมีลานพระแม่ธรณีทอล์ค เป็นการร่วมพูดคุยในประเด็นต่าง
นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ยังแต่งตั้งคณะทำงาน 001 คือการบริจาคภาษี ให้ความรู้กับประชาชน และร่วมกันบริจาคภาษีให้พรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคไม่มีเจ้าของเป็นสถาบันทางการเมือง และที่สำคัญคือ มีการจัดตั้งศูนย์ Blue House รับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือประชาชน ขณะนี้ ขยายศูนย์ให้ใหญ่และดีขึ้น ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ไปถึง 400 เขตเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการประกาศในเร็วๆนี้