“ชวน”สวนกลับ “ทักษิณ” แซะ “ผมคนรุ่นเก่าไม่โกง” ยันไร้อาฆาตส่วนตัว ย้อนวรรคทองเคยทำนาย “ทำประเทศเป็นธุรกิจ” ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่เป็นจริง “รมว.กต.” แจง 2 กระทู้ ยันวงหารือ 5 ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้รองรับลต.ในเมียนมา ลั่นไทยยังไม่ได้ทำอะไรตามกรอบ MOU44 ส่วน “กกต.” ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง "เสี่ยชิต" นั่ง นายก ทน.บุรีรัมย์ พ่วง ส.ท.24 คน กลุ่ม "คนบุรีรัมย์"

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.68 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย พาดพิงถึงคนสูงวัยแต่ยังสมัครเป็นสส. ว่า ตนสมัครผู้แทนราษฎรเมื่ออายุครบ เป็นผู้แทนอายุน้อย สมัยนั้นมีตนและนายอุทัย พิมพ์ใจชน ตนสมัครและได้เป็นผู้แทนพร้อมกับบิดาของนายทักษิณ และเป็นต่อเนื่องมาทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน ตนไม่ได้เข้ามาเพื่อธุรกิจ สมัยที่ตัดสินใจเลือกมาเป็นผู้แทน ตนมีทางเลือกว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการหรือไม่ ซึ่งในเพื่อนรุ่นเดียวกันเกือบทั้งหมดเป็นผู้พิพากษา อัยการ ประธานศาล องคมนตรี มีตนเพียงคนเดียวที่ตั้งใจเป็นนักการเมือง เพื่อจะได้ทำงานเป็นปากเสียงให้ประชาชน ดังนั้นการเข้ามาการเมืองจึงไม่ได้หวังผล เพื่อดูแลธุรกิจ เพราะไม่ได้มีธุรกิจที่จะต้องปกป้อง หรือเอาประโยชน์ให้ครอบครัว
“เมื่อผมเป็นผู้แทนมาต่อเนื่อง ความคิดว่าอายุมากแล้วให้เลิก ไม่ได้คิด คิดแค่ว่ายังทำงานได้อยู่ ถ้าผมทำธุรกิจแล้วได้กำไร แล้วเลิกนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่อายุมากแล้วยังทำงานได้อยู่ และในสภาฯนี้คนที่อายุมากที่สุดไม่ใช่ผม คนที่อายุมากที่สุด คือพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และรองมาคือ นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพทั้งคู่ ท่านอาจไม่ได้ทำงานเท่าผม แต่เป็นผู้ใหญ่ที่อายุมากแล้วยังสมัครอยู่ ผมก็อยากจะบอกว่ามีคนอีกสองคนซึ่งอยู่ในพรรคของท่านอายุมากกว่าผม แต่คนเหล่านั้นก็ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวอีกว่า ตนอยู่เป็นผู้แทนก็มีประโยชน์ตรงที่บางเรื่องคนรุ่นใหม่ไม่ทราบ นายทักษิณก็บอกว่าเขาคือนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่ตนเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง ไม่ซื้อเสียง ยึดมั่นหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา ซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือหลักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่ให้สัมภาษณ์ไป ไม่เคยอาฆาตแค้นนายทักษิณ เคยพูดครั้งหนึ่งว่าถ้านายทักษิณทำประเทศเหมือนธุรกิจตัวเอง ทำอะไรไม่ถูกต้อง ระวังไม่มีแผ่นดินจะอยู่ เคยพูดเมื่อ 17-18 ปีที่แล้ว ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แน่นอนที่สุดใครก็ตามทำอะไรไม่ถูกต้องกับบ้านเมืองจะมีปัญหา

“ขอยืนยันว่าผมยังอยู่ ยังทำหน้าที่ปกติ ยังพอมีความจำอยู่ ยังไม่ถึงขั้นความจำเลอะเลือนหรือจำอดีตไม่ได้ อาจไม่ปราดเปรื่องเหมือนคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่รู้ในอดีตยังจำได้ เช่น เรื่องภาคใต้ บางเรื่องกองทัพไม่มีข้อมูล ถ้าอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายใช้วิธีจัดการให้ได้เดือนละ 10 คน ก็ให้ไปถาม พล.ท.เรวัตร รัตนผ่องใส อดีตรองแม่ทัพภาคที่4 เป็นคนเดียวที่บอกว่าเป็นเรื่องแบ่งแยกดินแดน ทำได้ยาก วันนี้พล.ท.เรวัตร ไม่มีโอกาสได้เป็นแม่ทัพภาค ทหารควรยกย่องคนเช่นนี้เป็นวีรบุรุษ เพราะกล้าคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” นายชวน กล่าว
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องบทบาทการทูตของไทยต่อประเทศเมียนมา ของนายกัณวีร์  สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ถามนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศว่า สถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่จะกระทบกับประเทศไทย ทั้งสถานการณ์ภัยสงคราม ความไม่สงบ สถานการณ์การเมือง รวมถึงคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งวันที่ 19 ธ.ค. 67 นายมาริษได้เชิญเพื่อนบ้านประเทศต่างๆ รวมถึงตัวแทนสภาทหารของเมียนมาเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ให้ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมามาพูดคุย แต่สิ่งที่อยากถามคือจากการพูดคุยทหารเมียนมาได้มีการมาพูดว่าเขาจะมีการเลือกตั้งในปี 2568 โดยใช้เวทีที่รมว.ต่างประเทศจัดตั้งขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นการไปรองรับผลของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ ท่านทราบหรือไม่ว่าเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย มีกระแสว่าไม่สามารถรับรองผลการเลือกตั้งนี้ได้ เราในฐานะกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ที่ยึดหลักประชาธิปไตยเราจะยอมรับหรือไม่ ท่านมีจุดยืนทางการทูตอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านมาริษ ชี้แจงว่า ประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับทุกกลุ่ม ทั้งจากฝ่ายปกครองหรือฝ่ายต่อต้าน รวมถึงไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ไม่ต้องการให้การสู้รบคงอยู่ในเมียนมาต่อไป อย่างไรก็ดีปัญหาของเมียนมานั้นจำเป็นต้องใช้การพูดคุยตามขั้นตอน  สำหรันสถานการณ์ของเมียนมามีขั้นตอนและความเปราะบางหลายจุด รวมถึงมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องมาก สถานการณ์ซับซ้อน เป้าหมายของไทยอยากให้เมียนมากลับมาสงบ มีเสถียรภาพประชาชนเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดี มีความก้าวหน้า โดยต้องดำเนินการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับคนทุกกลุ่มในเมียนมา สำหรับความขัดแย้งในเมียนมาเป็นเรื่องภายในประเทศ พวกเขาต้องหาทางออกของอนาคตกันเอง จึงจะยั่งยืนประเทศ โดยภายนอกไม่สามารถบีบบังคับให้เมียนมาเป็นไปตามที่ต้องการได้ ไทยตระหนักดีกว่าเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความปรารถนาหาแนวทางสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้าคุยกันตามกระบวนการของอาเซียน ให้เมียนมามีความปรองดอง และพัฒนาเศรฐกิจได้อีกครั้ง.

ต่อมานายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.ต่างประเทศ เรื่อง ข้อพิพาทอ้างสิทธิในไหล่ทวีทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา  โดยถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการและการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาตามกรอบของเอ็มโอยู 2544 รวมถึงกรณีต่อการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ระหว่างที่การเจรจาข้อพิพาทจะแล้วเสร็จ ที่พบว่าทั้งไทยและกัมพูชาพบการให้สัมปทานกับเอกชนไปแล้ว

นายมาริษ ชี้แจงว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งตามกรอบเอ็มโอยู 2544 มีข้อกำหนดให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาร่วมกัน ทั้งนี้รัฐบาลไทยมีกลไกของกรรมการร่วม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งกรรมการดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา สำหรับข้อห่วงใยของ สส.ฝ่ายค้านนั้น ตนพร้อมรับฟัง อย่างไรก็ดีในปลายเดือน ม.ค. นี้ กระทรวงการต่างประเทศ และกรรมาธิการ (กมธ.)  ของสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นในประเด็นดังกล่าว
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 7 มกราคม 2568 เรื่อง ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

ตามที่ได้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และสมาชิกสภาเทศบาลนครบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ กรณีเปลี่ยนแปลงฐานะ จำนวน 24 คน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 และมาตรา 106 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และข้อ 179 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนี้ ได้แก่ นายอนุชิต เหลืองชัยศรี เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครบุรีรัมย์

พร้อมทั้ง ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครบุรีรัมย์ 24 คน 4 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ เขตเลือกตังที่ 1 นายนิยม สิงหชัย, ร.ต.ภาณุภณ เสารีรัมย์ , นางบษกร บูรณ์เจริญ , นายชลธี ศิริรัตน์ , นางเฉลียว ใหม่คามิ และนายธนนท์ กีรติตระกูล เขตเลือกตังที่ 2 นายธนะวรรธณ์ อัครวงศ์ฐากูร , นายชวลิต สิงคาร , นางชนัดดา เจียรรัตนสวัสดิ์ , นายเลียง แขนรัมย์ , นายพยนต์ มณีวรรณ และนางระเบียบ ไชยโย

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายอุไร กรอบรัมย์ , นางสาวแฉล้ม เพ็งรัมย์ , นายธงชัย เพชรเลิศ , นายไวพจน์ วิชิตรัมย์ , นายปฐม โกติรัมย์ และ นายธนกฤต อินต๊ะวงศ์ เขตเลือกตั้งที่ 4 นายบุญส่ง อุไรมาลย์ , นางสาวภัสสร์อร เงินสยาม , นายชัยเดช สิริรุ่งวนิช , นายไพรัตน์ คุดรัมย์ , นายสุชาติ ชัยมัง และนายภัสพงษ์ สวัสดิ์พุทรา ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครบุรีรัมย์ ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกสภาเทศบาล และอดีตสมาชิก สภา อบต.


ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือกตั้ง ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562


สำหรับ นายอนุชิต เหลืองชัยศรี หรือ "เสี่ยชิต" อายุ 44 ปี หัวหน้าทีมกลุ่ม "คนบุรีรัมย์" เป็นนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ครอบครัวประกอบธุรกิจ โรงแรม , ปั๊มน้ำมัน , จำหน่ายรถจักรยานยนต์ และธุรกิจด้านการก่อสร้าง เริ่มลงเล่นการเมืองท้องถิ่นเป็นครั้งแรก ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครบุรีรัมย์ คนแรกหลังจากได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครบุรีรัมย์ มีผลเมื่อวันที่ 31 ต.ค.67 ที่ผ่านมา

ส่วนสมาชิกสภาเทศบาล(ส.ท.)นครบุรีรัมย์ 24 คน ทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ก็ล้วนเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ทีมกลุ่ม "คนบุรีรัมย์" ของนายอนุชิต เหลืองชัยศรี เช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้การทำงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรี ของนายอนุชิต ที่เข้ามาบริหารเทศบาลนครบุรีรัมย์ จะเป็นไปด้วยความราบรื่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาในเทศบาลนครบุรีรัมย์ เป็นทีมงานเดียวกัน