เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 1 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลมีเดียและเพจต่างๆ ทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ได้เผยแพร่ภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่บ้านเหล่าใหญ่ ม.13 ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งได้โพสต์คลิปภาพคุณยายคนหนึ่งยืนร้องไห้ขอความช่วยเหลือ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “ขอนแก่นร้องเรียนอะไรบอกไว้ที่นี่” เพื่อสะท้อนถึงหน่วยงานราชการลงพื้นที่มาดูปัญหาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาจากน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะถนนทำให้มวลน้ำพัดพาทรายเข้ามาปกคลุมในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย พร้อมฝากไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นรีบเข้ามาช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

ต่อมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพบกับชาวบ้านเหล่าใหญ่ หมู่ 13 ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยได้พบกับ นางสุริยาวดี โพธิ์ดู่ อายุ 56 ปี ชาวบ้านที่ยืนร้องไห้ในคลิปที่มีการโพสต์ลงในโซเชียล พร้อมกับชาวบ้านอีกหลายคนยืนชูป้ายขอให้สื่อมวลชนช่วยเป็นกระบอกเสียงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำป่าไหลหลากดังกล่าว ซึ่งได้เขียนป้ายข้อความต่างๆจำนวนหลายป้าย ระบุว่า “น้ำป่าพัดดิน ถนนชำรุดชาวบ้านอยายกได้ถนนลาดยาง” “ป่าโคกใหญ่ฉิบหาย น้ำป่ามาไร่นาเสียหาย” “แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทีเดียวจบได้บ่” “ชาวบ้านเหล่าใหญ่อยากได้ถนนลาดยยาง”

ซึ่งชาวบ้านได้พาผู้สื่อข่าวเดินสำรวจความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นพบว่า ถนนดังกล่าวเป็นถนนดินซึ่งใช้สัญจรมาตลอดสามารถออกไปยังอีกหลายหมู่บ้านหลายตำบล เข้าพื้นที่ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่นได้ ที่ผ่านมายังไม่มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น กระทั่งฝนตกหนักในห้วง2เดือนที่ผ่านมา น้ำจากป่าโคกใหญ่ไหลกัดเซาะถนนจนขาด ซึ่งทาง อบต.บ้านขามได้เข้ามาซ่อมแซมไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ก็ขาดอีกครั้ง จนกระทั่งมวลน้ำได้กัดเซาะและพัดเอาทรายมาปกคลุมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านและกัดเซาะพื้นที่การเกษตรจนทรุดลงเสียหายถูกน้ำพัดพาไปกลายเป็นเวิ้งดินทรายขนาดใหญ่ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้

นางสุริยาวดี กล่าวว่า ได้ร้องขอความช่วยเหลือกับทางหน่วยงานราชการต่างๆไปแล้ว เมื่อ 2 เดือนก่อน โดยทางหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแจ้งมาว่าจะมีการประสานหลายๆหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือมาคุยกันและหาทางแก้ไข แต่ผ่านไป 2 เดือน รอทางการมาสำรวจแก้ปัญหาดังกล่าวให้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า และเนื่องจากมวลน้ำเริ่มกัดเซาะสร้างความเสียหายขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนพื้นที่การเกษตรที่ตนเองปลูกมันสำปะหลังกับน้องสาว 40 กว่าไร่ ถูกน้ำกัดเซาะทรุดลงไป และมีทรายเข้าปกคลุมพื้นที่ กลัวว่าความเสียหายจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ หากยังไม่มีการซ่อมแซมถนน จึงได้พูดคุยกับชาวบ้านหลายๆคนและตัดสินใจอัดคลิปลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้สื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านและเข้ามาช่วยเหลือดังกล่าว

"ชาวบ้านต้องการให้ทำถนนเป็นถนนลาดยางจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว และขุดลอกหนองลุมพุกซึ่งอยู่ด้านล่างก่อนเข้าหมู่บ้านห่างจากจุดที่ถนนขาดไปประมาณ 2 กม. เพื่อให้มวลน้ำไหลลงไปยังหนองลุมพุกซึ่งขณะนี้ก็มีทรายเข้าปกคลุมกินพื้นที่เช่นกัน และชาวบ้านก็จะได้มีน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรอีกด้วย แต่หากซ่อมแซมเป็นลูกรัง ไม่นานก็จะต้องประสบปัญหาเก่าซ้ำๆเช่นเดิม เพราะในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบนั้นไม่ใช่แค่พื้นที่บ้านเหล่าใหญ่เท่านั้น แต่ตอนนี้ได้รับผลกระทบเสียหายไปแล้ว 2 ตำบล ทั้งตำบลบ้านโนน และตำบลบ้านขาม"

พร้อมกันนี้ นายอดิศักดิ์ กิตติปัญญาศิริ ปลัดอาวุโส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่มาพบกับชาวบ้านและชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาล่าสุดขณะนี้กับชาวบ้านว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมานั้นมีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้มวลน้ำกัดเซาะจนถนนขาดไปแล้วรอบหนึ่ง โดยได้มีการซ่อมแซมไปแล้วก่อนหน้านี้และมาขาดซ้ำอีกครั้ง ซึ่งทางอำเภอไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการลงพื้นที่มาสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ส.ค.2567 ที่ผ่านมาและได้รายงานไปยังจังหวัดทราบแล้ว ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินในพื้นที่ ต.บ้านขามรวม 1,000 ไร่ โดยจะมีการชดเชยพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย แบ่งเป็นพื้นที่นาข้าว ชดเชยให้ไร่ละ 1,340 บาทต่อไร่ และพื้นที่ปลูกอ้อยกับมันสำปะหลัง ชดเชยให้ไร่ละ 1,900 บาทต่อไร่ โดยชดเชยให้ไม่เกิน 30 ไร่ต่อคน ซึ่งจะมีการจ่ายเงินชดเชยภายในเดือนกันยายนนี้ 

"ในวันที่ 5 ก.ย. ทางคณะกรรมการจะลงพื้นที่มาสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าที่ประชุมรับรองในการช่วยเหลือต่อไป ในส่วนของถนนนั้น ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบทราบว่า ทางอบต.บ้านขามได้เปิดประชุมสภาเพื่อซ่อมแซมเร่งด่วนแล้วแต่สภาไม่อนุมัติ โดยในส่วนนี้ทางจังหวัดได้อนุมัติใช้งบฉุกเฉินในการซ่อมแซมถนนแล้ว โดยในแผนระยะยาวนั้นทราบว่าอยู่ในแผนปีงบประมาณ 2568 ของทาง อบจ.ที่จะดำเนินการทำถนนเป็นดินลูกรังพร้อมกับขุดลอกหนองลุมพุกเพื่อรองรับมวลน้ำที่ไหลลงมาตามเส้นทางน้ำ"

ขณะที่ชาวบ้านเมื่อได้ฟังแนวทางช่วยเหลือจากทางปลัดอาวุโสอำเภอน้ำพองแล้ว ก็ได้มีการเสนอขอให้ทำเป็นถนนลาดยางเพราะหากทำเป็นถนนลูกรังก็จะยังเกิดปัญหาซ้ำแบบเดิมขึ้นได้ และขอให้ไม่ให้นำท่อมาลง เพราะปกติตรงนี้จะไม่มีท่อต่อมาลงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน อยากให้ทำทางน้ำไหลลงสู่หนองลุมพุกโดยตรงเลย ซึ่งทางปลัดฯก็รับไปเสนอในที่ประชุม ทำให้ชาวบ้านได้รับความสบายใจและปรบมือขอบคุณทางอำเภอ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายในพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน พบว่าทั้งไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และนาข้าวถูกน้ำกัดเซาะทรุดตัวลงเป็นทางน้ำกินพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นวงกว้าง พร้อมทั้งมวลน้ำพัดเอาทรายมาปกคลุมพื้นที่การเกษตรจนสูงทับที่ดินเดิมไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ขณะที่หนองลุมพุกก็เช่นเดียวกัน ถูกมวลน้ำพัดพาเอาทรายเข้าปกคลุมพื้นที่จากพื้นที่ที่เป็นน้ำกลายเป็นผืนทรายสามารถลงไปเดินได้อีกด้วย