สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต7 กรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” ในพื้นที่บ้านแม่ต๋ำน้อย หมู่ 18 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ส่งเสริมการออกแบบระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงการขุดบ่อเก็บน้ำ เพื่อจัดทำแปลงตัวอย่างการปลูกพืชผักภายใต้โรงเรือน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย สร้างคุณค่าสู่สังคมคุณภาพด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

ด้าน นางมนัสนันท์ ไชยนุรัตน์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต7 กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่หลักในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ของภาคเกษตร ผ่านหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูงในจังหวัดพะเยา ยกระดับการผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต7 ร่วมบูรณาการร่วมกันกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) มีนโยบายการใช้ที่ดินให้เหมาะสม ในการสร้างอาชีพบนพื้นที่สูงให้กับเกษตรกรในพื้นที่แม่ต๋ำน้อย หมู่ 18 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โดยสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สนับสนุนการสำรวจดินบนพื้นที่ มีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูง ออกแบบในเรื่องของจัดทำขั้นบันไดดิน เพื่อลดการชะล้างพังทลาย และออกแบบระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงการขุดบ่อกักเก็บน้ำ เพื่อจัดทำแปลงตัวอย่างการปลูกพืชผักภายใต้โรงเรือน ซึ่งในปัจจุบันมีการปลูกแตงกวาญี่ปุ่น ภายในระยะเวลา 2 เดือน รายได้ เกิน 100,000 บาท เพราะฉะนั้นการร่วมกันขับเคลื่อนพะเยาโมเดล พื้นที่บ้านแม่ต๋ำน้อย สามารถสร้างมูลค่าเกิน 3 เท่า และนอกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ยังสามารถปลูกไม้ผล เช่น การหันมาปลูกอาโวคาโด ปลูกเสาวรส ปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นพืชไม้ผลที่มีผลผลิตทางการเกษตรมูลค่าสูง เพื่อให้เกษตรกร สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคง 

​​​​​​​ ​​​​​​​

บ้านแม่ต๋ำน้อย หมู่ 18 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ถืออีกหนึ่งเป็นต้นแบบ ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา กรมพัฒนาที่ดิน มีการดำเนินงานบูรณาการร่วมกันที่เห็นผลอย่างชัดเจน บนพื้นที่บ้านแม่ต๋ำน้อย ซึ่งสมาชิกที่เข้าฝึกทักษะ เมื่อมีทักษะที่เข้มแข็งแล้ว สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ และเกษตรกรท่านใดที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ ในเรื่องของการจัดการดิน เรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และสารป้องกันโรคแมลง เพื่อสร้างพืชผลที่มีมูลค่าสูง ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง