เต็มอิ่มกับคลังความรู้ ในการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “สร้างนวัตกรรม รู้ทันการเปลี่ยนแปลง สู่การบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน” เวทีการนำเสนอผลงานวิชาการดีเด่น เพื่อสร้างนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ หรือนำไปปฏิบัติจริง นำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

ซึ่งมีกิจกรรมให้ความรู้มากมาย ทั้งการบรรยายพิเศษ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) / Carbon Credit” และ “การจัดการธาตุอาหารพืช” เสวนาพิเศษ “เทคนิคการเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน” กิจกรรมสร้างค่านิยม Team for Soils ทั้งภาคบรรยายและภาคนิทรรศการ เพื่อเป็นการพัฒนาสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรดิน รวมถึงนำเสนอผลงานดีเด่นของหมอดินอาสา ให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักยึดถือเป็นแบบอย่างในด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้ มีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบ่งปันประสบการณ์จากงานวิจัย สู่งานสาธิตและการพัฒนา  7 สาขาวิชาการ ได้แก่ สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน สาขาการจัดการดินปัญหา สาขาปรับปรุงบำรุงดิน สาขาการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดิน/ที่ดิน และการประยุกต์ใช้ สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และ สาขานโยบาย เศรษฐสังคม และการบริหารจัดการภาครัฐ 


นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนนักวิชาการและนักวิจัยได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ และเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้หรือนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ ทำให้เกิดการลดต้นทุนของเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดิน ลดผลกระทบจากภัยพิบัติภาคการเกษตร เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาหมอกควัน หรือฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพของนักวิจัยให้มีความพร้อม  รู้ทันการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน 
              
และสิ่งสำคัญ เป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี  ส่งเสริมการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกิดการสร้างรายได้ภาคการเกษตร ตามหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และการรับมือกับภัยพิบัติทางการเกษตร 


ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดประกวดผลงานวิชาการ 7 สาขา โดยมีคณะกรรมการวิชาการเป็นผู้พิจารณาตัดสินผลงาน ได้แก่ 1.สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ ผู้ชนะเลิศ คือ นางสาวภรภัทร นพมาลัย ผลงาน "การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้ระบบพืชปรับปรุงบำรุงดินร่วมกับแนวพืชกับดักพื้นที่ปลูกแตงโมหลังนาข้าวอินทรีย์ จังหวัดยโสธร" 2.สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ชนะเลิศ คือ นางสาวอาภัสนันท์ สุดเจริญ ผลงาน "ศึกษาการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมเพื่อการปลูกมะเขือเทศ" 3.สาขาการจัดการดินปัญหา ผู้ชนะเลิศ คือ นายวุฒิชัย จันทรสมบัติ ผลงาน "ผลของถ่านชีวภาพจากวัสดุท้องถิ่นที่แตกต่างกันต่อสมบัติทางเคมีและกายภาพของดินเค็มภายใต้การอนุรักษ์ดินและน้ำ แบบที่ 1 ในพื้นที่แอ่งโคราช" 

4.สาขาปรับปรุงบำรุงดิน ผู้ชนะเลิศ คือ นางสาววรรยา สุธรรมชัย ผลงาน "การศึกษาความแปรปรวนทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ปอเทือง โดยใช้เทคนิค  Genotyping-by-Sequencing" 5.สาขาจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดิน/ที่ดิน และการประยุกต์ใช้ ผู้ชนะเลิศ คือ นายพรชัย อุปพันธ์พงศ์ชัย ผลงาน "การทำแผนที่ดินที่มีผลกระทบจากเกลือ : กรณีศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา" 6.สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ผู้ชนะเลิศ คือ นางสาวณัฐพร ประคองเก็บ ผลงาน "ลายพิมพ์นิ้วมือของสารปรับปรุงดินชนิดสารอนินทรีย์ของประเทศไทย" และ 7.สาขานโยบาย เศรษฐสังคม และการบริหารจัดการภาครัฐ ผู้ชนะเลิศ คือ นายดำรงฤทธิ์ ศิริข่วง ผลงาน "การศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ของกรมพัฒนาที่ดิน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่"

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นผลงานวิจัยและแนวทางปฏิบัติจากนักวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยีและผลสำเร็จงานวิชาการมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน ส่งผลทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมและเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินที่น่าสนใจ สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่งานวันดินโลก ปี 2567 “Caring for soils: measure, monitor, manage ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน” ระหว่างวันที่ 5-11 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา