วันที่ 29 ส.ค.2567 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.กล่าวพาดพิงนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปรียบเสมือนไม้แก่ดัดยาก ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นยุคผลัดใบมีการทำงานบูรณาการรูปแบบใหม่ แต่การที่มาพาดพิงบุคคลในพรรคประชาธิปัตย์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การที่บอกว่าจะต้องมีมารยาทในการร่วมรัฐบาลกัน 1. จะต้องไม่วิจารณ์คนต่างพรรคกัน แม้บุคคลทั้ง 3 ท่านเป็นผู้ใหญ่ในพรรคที่ทุกคนให้ความเคารพ และที่บอกเป็นไม้แก่ดัดยาก ที่จริงแล้วทั้ง 3 ท่านเป็นเสมือนไม้บรรทัดเหล็ก ที่มีความเที่ยงตรงในการทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตนอยากเรียนไปถึงนายก่อแก้วว่าก่อนการที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์คนในพรรคการเมืองอื่น ต้องทบทวนและรู้จักมารยาท พร้อมทั้งศึกษาบุคคลเหล่านั้นให้ดีก่อนจะมาวิพากษ์วิจารณ์
เมื่อถามว่าจะเป็นปัญหาการทำงานร่วมกันในอนาคตหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าวันนี้ เมื่อเขาเทียบเชิญมา เราก็จะประชุมวันนี้ เพราะฉะนั้นการที่จะอยู่ร่วมกันก็ต้องทำความเข้าใจกันและต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เรามีหลากหลายความเห็น แต่เมื่อมติพรรคออกมาอย่างไร เราก็ยึดมติพรรคเป็นหลัก ดังนั้น ตนคิดว่าการทำงานร่วมกันในวันข้างหน้าไม่ยาก เพียงแต่วันนี้ต้องทำความเข้าใจกันในบางส่วน
เมื่อถามว่าจะทำความเข้าใจกับคนเห็นต่างในพรรคอย่างไร นายชัยชนะ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญเหนือคำพูดคือการกระทำ จะเห็นได้ว่าบุคคลที่เห็นด้วยจะร่วมรัฐบาลจะไม่ค่อยออกมาพูดอะไรมากมาย เพราะเราคิดว่าวันนี้ประเทศต้องปราศจากความขัดแย้ง ทุกคนเรียกร้องว่าประเทศต้องหมดความขัดแย้ง ถ้าเรายึดติดและยืนอยู่บนความขัดแย้งในอดีต ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้
“ผมคิดว่าวันนี้อย่าไปพูดเรื่องสีเสื้อเลยครับ ว่าสีนี้ผสมกับสีนู้น สีนั้นผสมกับสีนี้ วันที่คุณผสมกันเอง เรายังไม่พูดถึงเลย แต่วันนี้พอพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเทียบเชิญ และมาสอบถามมติก็กลับมาพูดว่ามีปัญหาหรือเปล่า ลืมอุดมการณ์หรือไม่ เพื่อไทยก่อนจะร่วมกับประชาธิปัตย์ก็ร่วมกับพรรคการเมืองหนึ่งเหมือนกัน ทำไมไม่พูดวันนั้นล่ะครับ วันที่เลือกตั้งเสร็จวันแรก และร่วมกับพรรคการเมืองไหนแล้วจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยก็ร่วมกับการเมืองมาโดยตลอด การจัดตั้งรัฐบาลมันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกครับ ต้องยอมรับว่าในเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้ สูตรสำเร็จในการจัดตั้งมันก็ไม่มี ผมในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ คิดว่าวันนี้เราต้องหันหน้าเข้าหากัน และทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ เดินหน้าประเทศไทยที่มีความยั่งยืน” นายชัยชนะ กล่าว
เมื่อถามว่าการประชุมในช่วงเย็นจะลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ ต้องรอให้ถึงเวลาประชุมว่ามีการซักถามหรือประเด็นอะไรหรือไม่ การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเราเป็นสถาบัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีหลากหลายความเห็น จบลงด้วยการโหวต ตอนร่วมรัฐบาลในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มี 2 ความเห็นเหมือนกัน สุดท้ายก็โหวตกัน บางคนโหวตว่าไม่ร่วมรัฐบาล เมื่อร่วมรัฐบาลแล้วยังไปเป็นรัฐมนตรีเลยในตอนนั้น ถือเป็นปกติของพรรคประชาธิปัตย์ ถกเถียงกันแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่เห็นต่าง แต่สุดท้ายก็สงวนจุดร่วม
เมื่อถามว่ารอบนี้ 21 เสียงกับ 4 เสียง จะมีผลต่อการโหวตในอนาคต กังวลอะไรหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า อย่าไปมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มี 21 เสียง เรามี 25 เสียง มติพรรคออกมาต้องเห็นตรงกัน เห็นได้จากการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เรางดออกเสียงทั้ง 25 เสียง
“ผมคิดว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาให้คนเชื่อมั่นได้ ประเด็นแรก เราต้องมีความสามัคคีความเป็นเอกภาพภายในพรรคก่อน ถึงจะเรียกความเชื่อมั่นได้ ผมเองก็อาจจะเห็นต่างจากคนในพรรค แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีใครมาตำหนิคนในพรรคในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมเป็นคนหนึ่งที่ยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าตำหนิแล้วมีเหตุมีผล นำเสนอข้อเท็จจริงก็ยอมรับ คนในพรรคคนไหนผิด ก็ไม่ได้ไปยกยอเข้าข้างอยู่แล้ว” นายชัยชนะ กล่าว
เมื่อถามว่านายชวนระบุว่ามีคนแสวงหาผลประโยชน์ในพรรค หมายถึงใคร นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนคงไม่ให้ความเห็นอะไรในประเด็นนี้ ต้องไปถามจากนายชวนเอาเอง เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ในพรรค
เมื่อถามว่าจะเป็นแรงกระเพื่อมรอบใหม่ในพรรคหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า “ถ้าจบเร็วไม่ใช่ประชาธิปัตย์ครับ” พร้อมขอร้องสื่อมวลชน อย่าพาดหัวข่าวเสี้ยมเรียกแขก วันนี้ถ้าจะมองว่าเรามีความขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย นั่นเป็นการต่อสู้ในอดีต แต่วันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้ารัฐบาลนี้แก้ปัญหาภายใน 6 เดือนไม่ได้ ปากท้องของพี่น้องยังไม่ดี สุดท้ายประชาชนก็ให้คำตอบอยู่แล้ว
“นักการเมืองไม่มีใครนอนหลับวันนี้เราฝันว่าจะเป็นนั่นเป็นนู่นได้ สุดท้ายอยู่ภายในฉันทามติของประชาชนว่าจะเลือกใครเข้ามาทำงานครับ ผมคิดว่า รัฐบาลก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่กำลังขาลงอยู่แก้ไขได้จริงหรือไม่ สิ่งไหนที่ให้คำมั่นสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้แก้ไขได้หรือไม่ ถ้าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล เราก็ต้องมีเงื่อนไขว่าทำอะไรในนโยบายของเราให้บ้าง เช่น ราคาสินค้าเกษตร ยางพารา รวมไปถึงการพัฒนาภาคใต้” นายชัยชนะ กล่าว
เมื่อถามว่าได้บอกลาพรรคประชาชนหรือยัง นายชัยชนะ กล่าวว่า การเมืองไม่ใช่การจากลา วันนี้เป็นรัฐบาลพรุ่งนี้เป็นฝ่ายค้าน วันนี้เป็นฝ่ายค้านพรุ่งนี้ไปรัฐบาล
“ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาลกันหมด ถ้าพรรคไหนบอกว่าไม่อยากเป็นรัฐบาล แล้วทำไมตอนแรกเร่งจัดตั้ง เสนอชื่อตั้ง 2 รอบ ผมคิดว่าวันนี้ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูด ถ้าเราทำการเมืองสร้างสรรค์ อย่าชิงความได้เปรียบ อย่าตีกิน เอาความจริงมาพูด ผมว่าจบ” นายชัยชนะ กล่าว
เมื่อถามว่าในโซเชียลแซวว่าปีที่แล้วยังไปเยี่ยมชั้น 14 อยู่เลย รอบนี้มาร่วมรัฐบาลแล้ว นายชัยชนะ กล่าวว่า มันคนละบทบาทกัน หน้าที่ของตนให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประธานกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร สิ่งไหนที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย ก็ต้องไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง วันนี้ถึงแม้ตนมาอยู่รัฐบาลแล้ว ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้อง ตนก็ต้องชี้แนะแนะนำ ไม่ใช่ว่าการอยู่ร่วมรัฐบาลแล้วจะปิดตา ตาบอด หูหนวก ฟังอะไรไม่ได้ ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าสิ่งไหนผิดก็ต้องผิด สิ่งไหนถูกก็ต้องถูก
“ผมคิดว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ผิด พรรคเพื่อไทยก็แนะนำได้ว่าสิ่งที่คุณทำผิด ทำไม่ถูก อย่ามองว่าเมื่อปีที่แล้วผมไปทำงานอีกแบบหนึ่ง วันนี้มาร่วมรัฐบาล ถ้าเป็นอย่างนั้น พรรคการเมืองบางพรรคเคยทำรัฐประหารปฏิวัติกัน มาวันนี้มาร่วมรัฐบาลกันในครั้งก่อน ทำไมไม่ถามถูกหรือไม่” นายชัยชนะ กล่าว