เห็นข่าวว่าด้วยคดีภาพเท็จ-ข้อความเท็จกรณีปลาหมอคางดำที่บริษัทเอกชนได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับคู่กรณี ผู้ใช้ภาพเท็จ–ข้อมูลเท็จในเวทีเสวนาและสื่อออนไลน์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2567 นับว่าเป็นอีกคดีที่น่าสนใจว่าบริษัทเอกชนจะสามารถเอาผิดในกรณีนี้ได้หรือไม่ ขณะที่คดีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นหลังสังคมออนไลน์เฟื่องฟู จึงขอชวนมาทำความรู้จักบทลงโทษของคดีนี้ เพื่อให้เกิดการระมัดระวังในการสื่อสารสู่สาธารณะ
ข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( บก.ปอท. ) ระบุว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รูปภาพ ตลอดจนคลิปวิดีโอต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีการด่าทอ หยอกล้อ หรือล้อเลียนผู้อื่น ด้วยความสนุก คึกคะนอง จนอาจเกินเลย สร้างบาดแผลทางจิตใจ หรือสร้างความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับบุคคลอื่น ซึ่งในกรณีดังกล่าวมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้อื่นมิให้ถูกละเมิด โดยผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่ได้กระทำ ดังนี้
การโพสต์ใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การโพสต์หมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา (การโพสต์เป็นสาธารณะหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้) อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การโพสต์ภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การข่มขู่ ขู่เข็ญ ผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ตกใจ อาจเข้าข่ายความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การส่งต่อ แชร์ รีทวีต หรือรีโพสต์ที่เข้าข่ายเป็นความผิด อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้โพสต์ ในฐานะตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือ 86 แล้วแต่กรณี
นอกเหนือจากความผิดที่มีโทษทางอาญาแล้ว หากผู้เสียหายสามารถพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของผู้กระทำผิด ทำให้ผู้นั้นได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือทางทำมาหาได้ ผู้ที่กระทำความผิดอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือมาตรา 423 แล้วแต่กรณีอีกด้วย
ถ้าให้คาดเดาการดำเนินคดีของบริษัทเอกชนกับผู้ละเมิดในกรณีนี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง ยิ่งถ้าเรียกร้องค่าสินไหมด้านชื่อเสียงที่ถูกทำลายก็น่าจะเป็นมูลค่าหลายล้านบาท ถึงบอกว่าคดีนี้เป็นอีกคดีที่ต้องจับตา ส่วนเราในฐานะประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นประจำ คงต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะการโพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่อาจสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น รวมถึงการส่งต่อ-การแชร์ด้วย เพราะอาจถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ เรียกว่าทั้งติดคุกทั้งเสียเงิน หมดอนาคตไปทันที
โดย : ทนง สิงห์สุรสีห์