วันที่ 28 ส.ค. 67 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า จริงๆ เราจะพอจะทราบแนวทางมาว่า เขาไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับรายชื่อรัฐมนตรีที่เราเสนอ โดยสร้างเงื่อนไขอะไรบางอย่างขึ้นมา และเมื่อมีมติออกมาแบบนี้ก็ชัดเจน เราก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ส่วนเหตุผลที่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ไปลงมติให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตรนั้น เราได้มีการชี้แจงไปแล้วว่า ในวันดังกล่าวหัวหน้าพรรคติดภารกิจ ไม่สามารถไปโหวตได้ แต่ สส.ของพรรค 39 เสียงไปโหวตให้หมด จึงคิดว่าไม่น่าใช่สาระสำคัญในการไม่นำเข้าไปร่วมรัฐบาล ส่วน สส.ของพรรคพลังประชารัฐในฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคนั้น คงยังไม่มีการดำเนินการอะไร พล.อ.ประวิตร ยังถือว่าทุกคนยังเป็นสมาชิกพรรค อย่าทะเลาะกัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่หาก สส.ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส โหวตไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคจะทำอย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องและแนวคิดของเขา ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา จึงตอบไม่ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้ไปถึงจุดนั้นก่อน แต่ยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐจะอยู่อย่างนี้ไปก่อนอีกสักระยะ จะยังไม่ขยับอะไร

เมื่อถามว่า จะมีการประชุมพรรคเพื่อหารือในเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรามีการประชุมพรรคเป็นประจำอยู่แล้ว คุยกันตลอด อย่างไรก็ดี วันนี้เราทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ก็มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล นำเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่า จะทำงานร่วมกับพรรคประชาชนได้หรือไม่ เนื่องจากอดีตมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ต้องพูดคุยกัน วันนี้เราไม่ได้เป็นพรรครัฐบาล มีหน้าที่ในการอภิปราย เรื่องการลงมติต้องคุยกันว่าจะไปในทิศทางใด เรื่องการแบ่งเวลาอภิปราย เชื่อว่าคงคุยกันได้

เมื่อถามย้ำว่า แต่เรื่องมาตรา 112 พรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาชนเดินเหมือนเป็นเส้นขนาน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดไปในทางเดียวกันทุกเรื่อง พรรคร่วมฝ่ายค้านในอดีตก็ไม่ได้ไปในทางเดียวกันทุกเรื่อง อย่างเรื่องมาตรา 112 ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ว่าไม่สามารถแก้ไขได้ 

นายชัยวุฒิ ยังแสดงความเห็นถึงทิศทางการเมืองจากนี้ว่า การที่เขาทำการเมืองแบบนี้ การเมืองแบบดูด สส. ไม่มีระบบการเมืองที่ชัดเจน ทำตามข้อตกลงหรือผลประโยชน์ที่ตกลงกัน เชื่อว่า สุดท้ายจะมีการขัดกันหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลง จะมีการเรียกร้องอะไรบางอย่างที่ทำไม่ได้ จะมีปัญหาในอนาคต เพราะการเมืองไม่ได้เป็นระบบพรรค ไม่เข้มแข็ง ไม่อยู่ในกรอบกติกา สุดท้ายเชื่อว่า จะเกิดการทะเลาะกันเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว การเมืองจะไม่นิ่ง ทำงานยาก และไม่ราบรื่น