“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” พร้อมตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ปมชาวหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงที่รับความเดือดร้อนย้ายป้ายรถประจำทาง  แนะให้ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้

    
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 นายปิยะ  ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาประชาชนที่พักอาศัยภายในหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ และพื้นที่ใกล้เคียงจะร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ (สำนักจราจรและขนส่ง และกรมการขนส่งทางบก) ในการย้ายป้ายหยุดรถประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารออกไปจากเดิมประมาณ 30 – 40 เมตร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กรณีนี้สามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้หรือไม่ ว่า ประเด็นข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นแรกถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงสามารถรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาได้ 
    
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมจะต้องมีหนังสือยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำหรือปฏิบัติลงไป ซึ่งอาจปฏิบัติได้ในหลายวิธีเช่น ขอให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงข้อเท็จจริง การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทและการใช้อำนาจดุลยพินิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน
    
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกที่ดีที่สุดของประเด็นปัญหาในเรื่องนี้ ควรเป็นอย่างไร นายปิยะ กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยินดีจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเข้าไปร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้ร่วมกันกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามโดยหลักการแล้วนั้น การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหานี้ จะต้องมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามช่องทางที่กำหนดไว้ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาสั่งรับเรื่องร้องเรียนแล้วก็จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของปัญหาและรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน 
    
“สามารถส่งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ของสำนักงานได้ ทั้งทางไปรษณีย์ถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 ทางโทรศัพท์สายด่วน 1676 (โทรฟรีทั่วประเทศ) ทางอินเทอร์เน็ต www.ombudsman.go.th  ทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” และทางไลน์ (Line) “Ombudsman” โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น”
    
เมื่อถามว่า การแก้ไขปัญหานี้มีกรอบระยะเวลาหรือไม่ นายปิยะ กล่าวว่า หากมีประชาชนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในประเด็นปัญหานี้ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการแก้ไขปัญหามิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ชัดเจนเพื่อเกิดความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ให้เร็วที่สุด แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาเรื่องร้องเรียนแต่ละกรณีด้วยว่ามีความยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานหรือไม่ อย่างไร และข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือต้องขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนที่เป็นผู้ร้องเรียนประกอบกันด้วย
     
ดังนั้น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงขอความร่วมมือจากท่านซึ่งเป็นสื่อสารมวลชนให้ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว และหากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว การทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และร่วมกันคลี่คลายปัญหาระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนโดยเร็วต่อไป