"ตัวแทนหมู่บ้านพิบูลย์" เขตบางซื่อ ตั้ง 5 ประเด็นถาม "สำนักจราจรฯ ที่ระบุ"กทม." มีแผนย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ฯ นานแล้วตั้งแต่ปี53 แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ วอนอย่าเบี่ยงเบนประเด็น
จากปัญหาการย้ายป้ายรถประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสาร บริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ กรุงเทพฯ กระทั่งมีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรีบแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านละแวกดังกล่าวในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยที่ผ่านมา นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส) ระบุกทม.มีแผนย้ายศาลาที่พักผู้โดยสาร บริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ เมื่อปีงบประมาณ 2553 แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณนั้น
ล่าสุด นาวาเอกยงยุทธ เกื้อกิจ ที่ปรึกษาหมู่บ้านฯ เปิดเผยกับ สยามรัฐ ว่า ขอเรียนถามท่านใน 5 ประเด็น ดังนี้ 1.ในปี 2567 การย้ายป้ายและศาลารอรถโดยสารฯ ใช้งบประมาณของทางราชการหรือไม่ หรือเจ้าของที่ดินที่อยู่ด้านหลังป้ายรถประจำทางออกค่าใช้จ่ายให้ และถึงแม้ว่าเจ้าของที่ด้านที่อยู่หลังป้ายฯ ออกค่าใช้จ่ายให้ อย่างไรก็ยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ เพราะเป็นการย้ายทรัพย์สินของทางราชการ อีกทั้งต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินรายรับเพื่อบูรณะทรัพย์สิน เพราะการย้ายทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือเสื่อมค่า และต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง และตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินราชการ หน่วยงานท่านได้ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ มีการอนุมัติให้ย้าย และดำเนินการจัดจ้างย้ายศาลาพักผู้โดยสารหรือไม่ แต่ถ้าบอกว่าปฏิบัติตามระเบียบ เหตุใดจึงมีการแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ประชาขื่นว่าศาลาที่พักผู้โดยสารหายไปจากที่ตั้งเดิม(มีเอกสารแนบ)
2.การดำเนินการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นการย้ายเพื่อประโยชน์ของใคร ในขณะที่ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์จำนวนถึง 293 ราย ได้รับผลกระทบด้านความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่มีผู้ร้องขอให้ย้ายป้ายและศาลาเพียง 1 ราย เพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ทั้งๆ ที่ที่ดินนั้นมีทางรถยนต์เข้า-ออกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องย้ายป้ายและศาลา เพื่อทำทางเข้า-ออกใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนจำนวนมาก
3.คำสั่งคณะอนุกรรมการ ลงวันที่ 19 พ.ค.2525 ของกรมการขนส่งที่อ้างถึง เป็นกฎหมายมหาชนหรือไม่ เป็นคำสั่งที่ใหญ่กว่าพ.ร.บ.ต่างๆ หรือไม่ จึงไม่มีการดำเนินการตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง เข่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ก่อนทำการย้ายป้ายรถโดยสารและศาลาที่พักผู้โดยสาร ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ก่อนจริงหรือไม่ ถ้ามีการประขุมก่อนทำการย้าย เหตุใด จนท.จากขนส่งจึงไม่อ้างอิงผลการประชุมครั้งใหม่ ได้แต่อ้างเพียงมติคณะอนุกรรมการปี 2525 เท่านั้น
4.ส่วนที่กล่าวอ้างว่าสถานที่ที่ย้ายไปสะดวกกว่า ไม่เป็นความจริง ผู้พูดได้เคยมาลงพื้นที่เองหรือไม่ จุดที่ย้ายมาถึงแม้จะไม่มีตอม่อสะพานบัง แต่ก็มีแนวต้นไม้บังสายตาอยู่ดี ผู้มารอรถก็ยังคงต้องออกมาชะโงกดูรถอยู่ดี นอกจากนั้นจุดเดิมเมื่อลงรถแล้ว สามารถข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามได้เลย แต่จุดใหม่ต้องเดินอ้อมตอม่อกลับมาขึ้นสะพานลอย ช่องทางที่เดินก็แคบและเป็นจุดอับสายตา บางคนต้องลงมาเดินบนพื้นผิวจราจร อย่างนี้มันสะดวกตรงไหน ความสะดวกหากต้องแลกด้วยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ท่านยินดีแลกจริงหรือ ที่ระบุว่าการย้ายเพื่อเหมาะสมกับการใช้งานนั้น เหมาะสมกับการใช้งานของใครกันแน่ ประชาชนออกจากหมู่บ้านหรือชุมชนก็ถึงป้ายรอรถเลย หรือเมื่อลงรถแล้วก็สามารถเข้าหมู่บ้านและชุมชนได้เลย โดยไม่ต้องเดินอ้อมเลาะตอม่อสะพาน อย่างเดิมนี้ไม่เหมาะสมและปลอดภัยกว่าหรือ
หากมีใจเป็นธรรมเห็นแก่ประโยชน์ของประขาชนเป็นที่ตั้งแล้วจะไม่กล่าวเช่นนี้เลย ขอให้ลองกลับไปอ่านหนังสือร้องเรียนถึงความต้องการในเสียงของประชาชนให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าประชาชนกังวลในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเขา หาใช่ความสะดวกแบบที่กล่าวอ้าง และหากมีการทำทางเข้า-ออกบริเวณป้ายรถโดยสารเดิม ซึ่งติดกับทางเข้า-ออกของหมู่บ้านฯ ประชาชนที่จะไปขึ้นรถโดยสาร จะต้องเดินผ่านบนพื้นผิวจราจร บริเวณทางเข้าออกดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ถูกเชี่ยวชน แต่หากป้ายรถโดยสารอยู่จุดเดิมและเจ้าของที่ดินใช้ประตูทางออกเดิม ก็จะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเลย
5.ส่วนกรณีที่อ้างว่าเจ้าของที่สามารถขอย้ายศาลา เพื่อเปิดทางเข้า-ออกโครงการได้ทั้งๆ ที่มีทางออกอยู่แล้ว อีกทั้งทางที่จะขอเปิดก็ติดกับทางเข้า-ออกหมู่บ้านนั้น ขอถามว่าอย่างนี้ก็ทำได้ด้วยหรือ แต่ชาวบ้านและชุมชนเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถทำได้หรือ ในการขอให้ป้ายและศาลารอรถฯ ให้กลับมาตั้งอยู่ที่เดิม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาเอง
นาวาเอกยงยุทธ กล่าวอีกว่า การร้องเรียนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินด้านหลังป้ายและศาลาฯ กับประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ จึงขออย่าเบี่ยงเบนประเด็น ประชาชนร้องเรียนหน่วยงานว่ากระทำการย้ายป้ายรถโดยสารและศาลาที่พักผู้โดยสาร โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เป็นคู่พิพาทกับเจ้าของที่ดิน ก่อนการดำเนินการย้าย หน่วยงานได้มีการประกาศให้ประชาชนทราบหรือไม่ และหากการดำเนินการมีผลกระทบกับประชาชน ก็ต้องทำการสอบถามประชาชนก่อนดำเนินการ หน่วยงานได้ทำหรือไม่ขอให้ลองย้อนกลับไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ตนเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐควรให้ความสนใจในความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก