นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานเสวนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน (ภาคกลางและภาคตะวันออก) โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้ร่วมงานเสวนา และสื่อมวลชน ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจัดงานการเสวนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน” (ภาคกลางและภาคตะวันออก) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เกิดความตระหนักรู้ในการป้องกันและลดการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ตลอดจนการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์และการให้บริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน รวมถึงให้การบำบัดรักษา และส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพให้ลูกจ้างสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามภารกิจของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการร่วมผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญยิ่งของประเทศ ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “โครงการศูนย์โรคจากการทำงาน” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 ซึ่งมีการให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพ ตรวจสุขภาพแรกเข้างาน ระหว่างงานและออกจากงาน เฝ้าระวังและป้องกันโรค/อุบัติเหตุจากการทำงาน รวมทั้งให้คำปรึกษาและส่งเสริมงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานแก่สถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2566 มีจำนวนการประสบอันตราย 81,509 ครั้ง โดยเป้าหมายในปี 2567 นี้ จำนวนการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานต้องน้อยลงกว่าที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งต่อคนทำงานและผู้ประกอบการ อันจะส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของแรงงานอีกทั้งการดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับแรงงานจะส่งผลให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักรู้ และสามารถป้องกันอันตรายจากการทำงานได้ ลดการสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ประสบอันตรายจากการทำงานเองและส่งผลต่อครอบครัวสังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานเสวนาฯ ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ถอดบทเรียนการบูรณาการงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวด ล้อมในการทำงาน การนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับฟังความคิดเห็นในการพัฒนางานประกันสังคม การพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ให้สังคมแรงงานเข้าถึงข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการเสวนาฯ ในวันนี้มีผู้เข้าร่วม จำนวน 650 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะอนุกรรมการพัฒนาส่งเสริมและป้องกันด้านความปลอดภัยในการทำงาน ผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมควบคุมโรค สมาคมส่งเสริมความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในการทำงาน โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ผู้แทนสถานประกอบการและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม โดยกิจกรรมในงานประชุมประกอบด้วยการมอบโล่และประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการต้นแบบการลดการประสบอันตรายและคลินิกโรคจากการทำงาน การเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ภายในงานได้จัดนิทรรศการ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้งานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน รวมถึงการนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนอีกด้วย