กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดกิจกรรมศึกษาดูงานภาคสนามที่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ภายใต้งานประชุมวิชาการด้านน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การเสริมสร้างความยั่งยืนด้านน้ำบาดาลภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (The 2nd Thailand Groundwater Symposium: Strengthening Groundwater Sustainability under Climate Change) โดยมีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 17 ประเทศเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า การประชุมวิชาการด้านน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 2 นี้ ได้แบ่งการจัดงานออกเป็น 2 ช่วงคือ วันที่ 19-21 สิงหาคม 2567 เป็นงานประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำบาดาลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของน้ำบาดาลต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ภายในงานได้รับเกียรติจากนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 17 ประเทศ เข้าร่วมนำเสนอผลงานเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในหัวข้อสำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้ำบาดาล ความมั่นคงและความยั่งยืนของน้ำบาดาล และการกำกับดูแล การบริหารจัดการ และนโยบายด้านน้ำบาดาล ณ โรงเเรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร
โดยการศึกษาดูงานภาคสนามจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2567 ด้วยการเข้าเยี่ยมชมโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาข้อมูลด้านน้ำบาดาลจากสถานที่จริง สำหรับโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ได้รับเกียรติจาก ดร. เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการ สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล พาเยี่ยมชมโครงการ พร้อมบรรยายถึงข้อมูลการใช้น้ำบาดาล ซึ่งในพื้นที่นี้ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งมาก สภาพดินเป็นดินร่วมปนทราย และเป็นดินลูกรังที่มีความแข็ง ประกอบกับพื้นที่นี้มีปริมาณฝนน้อย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้เข้ามาสำรวจ ประเมินศักยภาพ และนำไปสู่การพัฒนาขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้เจาะน้ำบาดาลทั้งหมด 11 บ่อ
ซึ่งพบว่ามีปริมาณน้ำบาดาลอยู่ที่ประมาณ 4-10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง พบสารละลายมวลรวมอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร หลังจากนั้นจึงได้ติดตั้งหัวถังกระจายน้ำ และมีท่อกระจายน้ำเชื่อมลงมายังพื้นที่ที่อยู่ในโครงการ สำหรับปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 550 – 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในโครงการอยู่ที่ประมาณ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แบ่งเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตรประมาณ 320 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และส่วนที่เหลือจะเป็นการใช้ในกิจกรรมอื่นของโครงการ
ทั้งนี้น้ำบาดาลที่ผลิตได้ในโครงการสามารถนำเอามาใช้ได้ครอบคลุมทั้งโครงการ แต่ทางโครงการได้นำเอาส่วนของน้ำผิวดินมาใช้สอยเป็นประการหลัก เนื่องจากการใช้น้ำผิวดินจะไม่สิ้นเปลืองพลังงานเท่าน้ำบาดาล โดยนำมาจากบริเวณอ่างเก็บน้ำในโครงการมาใช้สำหรับการเกษตรเป็นหลัก ส่วนน้ำบาดาลจะนำมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากในช่วงนี้ปริมาณน้ำผิวดินจะลดระดับลงไปมากจนไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเพียวพอ ซึ่งการเตรียมน้ำบาดาลมาเป็นน้ำสำรองถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านการใช้น้ำ ในปัจจุบันทางโครงการได้ทดลองนำน้ำบาดาลมาใช้ในการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย พืชผักนอกฤดูกาล พืชที่มีราคาสูง และผลจากการทดลองพบว่าพืชที่ใช้น้ำบาดาลสามารถเจริญเติบโตได้ดีเทียบเท่ากับพืชที่ปลูกโดยใช้น้ำผิวดิน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สามารถส่งผลกระทบต่อน้ำบาดาลโดยตรง โดยจะทำให้น้ำที่จะไหลซึมไปเป็นน้ำบาดาลลดน้อยลง แต่สำหรับในประเทศไทยมีฝนตกทุกปี จึงมีน้ำบาดาลใช้เพียงพอในหน้าแล้ง และเมื่อถึงหน้าฝนจะมีปริมาณฝนที่ตกลงมาบนผิวดินที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเพียงพอ ในด้านอุณหภูมิของน้ำบาดาลจะอยู่ที่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส สำหรับการปนเปื้อนของน้ำบาดาล หากอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีชนิดเข้มข้นอาจจะสามารถแทรกซึมไปในดิน ซึ่งหากใช้น้ำบาดาลในระดับตื้นอาจจะส่งผลกระทบ แต่ปัจจุบันการใช้น้ำบาดาลของไทยอยู่ในระดับลึก มีการปกป้อง ผนึกซีเมนต์ข้างบ่อ เพราะฉะนั้นโอกาสที่สารเคมีจะซึมลงไปในชั้นบาดาลในระดับ 100-200 เมตร จะช้ามาก และหลักเกณฑ์ในการขอเจาะน้ำบาดาลที่ระดับความลึกมากกว่า 15 เมตร จะต้องขออนุญาตขุดเจาะให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักเกณฑ์จะต้องห่างจากส้วมซึม และห่างจากบริเวณที่เป็นแหล่งฝังกลบขยะ หรือพื้นที่มลพิษ
ขณะที่ในเชิงภูมิศาสตร์ ผืนดินของประเทศไทยรองรับด้วยชั้นหิน ส่วนชั้นดินจะประกอบไปด้วยดินเหนียวปนทราย ซึ่งจะอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง สามารถขุดเจาะหาน้ำบาดาลได้ง่าย ส่วนภาคอีสาน เหนือ และใต้ ผืนดินจะรองรับด้วยหิน ซึ่งการขุดเจาะน้ำบาดาลจำเป็นต้องไปหารอยแตกในหินก่อน เพราะน้ำบาดาลจะไปสะสมกันอยู่ในส่วนนั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่าธรณีฟิสิกส์ไปสำรวจหารอยแตก รวมไปถึงการพิจารณาเรื่องของความลึกของผืนดิน โดยจะต้องใช้ทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ในการหารอยแตก จากนั้นจะทำการเจาะหาสำรวจว่ามีน้ำบาดาลแทรกซึมอยู่ไหม หากมีจะนำไปสู่การสร้างบ่อและนำน้ำบาดาลออกมาใช้ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยสามารถขุดเจาะที่ระดับความลึกสูงสุดถึงประมาณ 1 กิโลเมตร ถือเป็นประเทศแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียนในเรื่องของการพัฒนาน้ำบาดาล แต่สิ่งที่สำคัญไป
มากกว่านั้นการขุดเจาะน้ำบาดาลไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเจาะลึก แต่ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้น้ำในเชิงเศรษฐศาสตร์
ด้าน นางวาสนา สาทถาพร ผู้อำนวยการ สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ถึงรายละเอียดในบริเวณพื้นที่ห้วยทรายที่มีการขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้สนับสนุนโครงการจำนวน 8 จุด ประมาณ 500 บ่อ มีทั้งส่วนที่ประชาชนเจาะเอง และส่วนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนในการเจาะ ซึ่งจะกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรม และเข้าไปในส่วนของน้ำอุปโภคและบริโภคในโครงการ โดยน้ำบาดาลที่ได้ถือว่าเป็นน้ำคุณภาพดี เหมาะสมในการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้สามารถผลิตน้ำบาดาลได้ประมาณ 20 – 200 คิวต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่จำนวน 8 ชุมชน ซึ่งการจัดงานประชุมฯ ในครั้งนี้ ที่ได้เชิญนักวิชาการด้านน้ำบาดาลจากหลากหลายประเทศเข้าร่วม และเยี่ยมชมโครงการสำคัญจะช่วยในการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำมาต่อยอดหรือนำองค์ความรู้ไปพัฒนาในวงกว้าง อาทิ การเจาะน้ำบาดาลในแนวนอน เทคโนโลยีการบำบัดน้ำ หรือการบำบัดน้ำอย่างไรให้เกิดค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เป็นต้น
ส่วน ดร. เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการ สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฏจักรของน้ำที่ค่อนข้างสมบูรณ์ อยากให้มีการใช้น้ำในแต่ละส่วนอย่างเหมาะสมทั้งน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เช่นในฤดูฝนก็ควรใช้น้ำจากน้ำฝนเป็นหลัก หากหมดหน้าฝนควรใช้น้ำผิวดินที่มาจากแหล่งน้ำผิวดินอย่างหนอง คลอง บึง ห้วย ส่วนในหน้าแล้งเมื่อน้ำมีปริมาณผิวดินน้อย ก็หันมาใช้น้ำบาดาล เป็นการอนุรักษ์ และสร้างความสมดุลให้กับวัฏจักรของน้ำ สำหรับผู้สนใจอยากทราบข้อมูลเรื่องน้ำบาดาลทางด้านการเกษตรเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่อบต.ใกล้บ้าน หรือสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ หรือที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล