"ส.ก.เขตบางซื่อ" เผยไม่เคยได้รับการติดต่อจาก "ขบ." ให้เช้าร่วมการประชุมร่วมเพื่อทราบความคืบหน้าและหาทางออกปมย้ายป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องดังกล่าวมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าการย้ายป้ายรถเมล์หรือไม่

 เมื่อวันที่ 25 ส.ค.67 นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามกรณีชาวบ้านหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ แจ้งร้องทุกข์ผ่านสำนักการจราจรและขนส่ง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการย้ายป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่สะดวกต่อการเดินทางว่า เรื่องดังกล่าวทราบว่ามีการนัดประชุมหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมาตลอด ล่าสุดทราบว่าหน่วยงานจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อนำข้อสรุปจากการมอบหมายให้สำนักงานเขตบางซื่อไปสำรวจความเห็นเพิ่มเติม มาพิจารณาว่าจะเปลี่ยนมติย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ มาตั้งจุดเดิมตามที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่

 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตนพยายามสอบถาม ติดตามการประชุมร่วมเพื่อทราบความคืบหน้าและหาทางออก แต่ไม่ได้รับเชิญหรือแจ้งให้ร่วมประชุม จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่ต้องการให้ ส.ก. และ ส.ส.ในพื้นที่เข้าร่วมรับทราบข้อมูล ในฐานะตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องดังกล่าวมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าการย้ายป้ายรถเมล์หรือไม่

 จากการติดตามความคืบหน้าจากสำนักงานเขตบางซื่อ พบว่า สำนักงานเขตได้ส่งความคิดเห็นชาวบ้าน (ประชาพิจารณ์) ประมาณ 300 รายชื่อ ที่ต้องการย้ายป้ายรถเมล์กลับมาจุดเดิมที่เคยใช้มากว่า 30-40 ปี พร้อมส่งความเห็นชาวบ้านกว่า 40 รายชื่อ ที่ต้องการให้ย้ายไปจุดใหม่ที่เพิ่งย้ายมาตั้งในปัจจุบัน รวมถึงความคิดเห็นของเขตก็เห็นด้วยกับชาวบ้านกว่า 300 รายชื่อ ที่ต้องการให้ย้ายไปยังจุดเดิม ซึ่งผลการสอบถามความเห็นดังกล่าว สำนักงานเขตบางซื่อได้ส่งไปให้กรมการขนส่งทางบกครบถ้วนแล้ว ตามที่กรมการขนส่งทางบกต้องการ และข้อคิดเห็นจากชาวบ้านและเขตก็ชัดเจนแล้วว่าต้องการให้ย้ายกลับไปที่เดิม จึงสงสัยว่า การที่กรมการขนส่งทางบกมอบหมายให้สำนักงานเขตบางซื่อไปสำรวจความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อนำผลที่ได้มาประชุมหาข้อสรุปในเดือน ก.ย.นี้ เป็นไปเพื่อประวิงเวลาอะไรหรือไม่ 

 ยกตัวอย่าง ให้สำนักงานเขตสอบถามความเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องการจราจรในพื้นที่กีดขวางการจราจรหรือไม่ สอบถามองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เรื่องการเดินรถโดยสารสาธารณะที่ต้องเข้าป้ายหยุดรถโดยสารว่าสะดวกหรือไม่ สอบถามกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่อง ความปลอดภัยของประชาชน การสร้างศาลาพักผู้โดยสาร ไฟส่องสว่าง สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรื่องการจราจรในเส้นทางเชื่อมต่อเป็นปัญหาหรือไม่ เป็นต้น 

 "การโยนเรื่องให้สำนักงานเขตไปสำรวจความเห็นเพิ่มเติมเป็นไปเพื่ออะไร ทั้งที่บางหน่วยงานไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้สำนักงานเขตได้สำรวจความคิดเห็นชาวบ้านส่งให้กรมการขนส่งทางบกหมดแล้ว ก็ควรดำเนินการตามผลที่ได้ ซึ่งผลประชาพิจารณ์ชัดเจนแล้วว่าต้องการย้ายไปจุดเดิม" ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าว