ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม “ดิน” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก เป็นกลไกช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ดินเสื่อมโทรมลง ทั้งขาดการดูแลและอนุรักษ์ ขาดการพัฒนารักษาให้ยั่งยืน
ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งคิดแก้ปัญหา และมุ่งพัฒนาดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “ดินเค็ม” ซึ่งได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ไขปัญหาดินเค็มมาเป็นแนวทาง
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดการประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “นวัตกรรมทศวรรษ กับ มิติภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มและพื้นที่คราบเกลือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การงานวิจัย งานวิชาการด้านดินเค็ม
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจในการจัดการดินเพื่อการเกษตรของประเทศ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 67 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มที่เกิดจากการแพร่กระจายคราบเกลือบนผิวดินครอบคลุมพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ ซึ่งส่งผลกระทบกับเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้ตระหนักและให้ความสำคัญการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ร่วมกับการวิจัยด้านการจัดการดิน น้ำ และพืช มีการวางแผน และดำเนินการจัดการพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการศึกษา สำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการพื้นที่ดินเค็ม จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จากการจัดการพื้นที่ดินเค็ม ทั้งภายในและต่างประเทศ และจากนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นการปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม โดยใช้ทั้งวิธีทางวิศวกรรม และวิธีทางชีวภาพ ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม
นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การพัฒนาและวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการพื้นที่ดินเค็ม และดำเนินการจัดการพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ ซึ่งกรมฯ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มาตั้งแต่ปี 2558 เกิดผลสำเร็จของผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์ทั้งการแก้ไขปัญหาดินเค็ม การติดตามการเปลี่ยนแปลงความเค็มในพื้นที่จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยระบบวิศวกรรม จากผลสำเร็จดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนางาน และต่อยอดงานวิจัยในหลายมิติในพื้นที่ดินเค็ม รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทำให้เกิดการบูรณาการทางด้านทรัพยากรบุคคลด้านงานวิจัย ก่อเกิดงานวิจัยเพื่อตอบสนองชุมชนและสังคม เพื่อแก้ปัญหาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืน
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมวิชาการจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัย นักวิชาการทั้งจากหน่วยงานภายในกรม และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรในชุมชนพื้นที่ดินเค็ม ให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืน ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว