“นักวิชาการ มธ.” เปิดรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ ดื่ม 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ พร้อมเสนอแนะเชิงนโยบายรัฐยืดหยุ่นเวลาขาย-ปรับกฎหมายโฆษณา-ลดภาษีสุรานำเข้า-ปรับโครงสร้างภาษี-เปิดโอกาสในการผลิตให้ผู้ประกอบการรายย่อย ด้านผู้ประกอบการโรงแรมส่งเสียงขอเป็นพื้นที่ขาย 24 ชั่วโมงให้นักท่องเที่ยว มั่นใจกำกับดูแลตามกฎหมายได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยเสนอรัฐออกใบอนุญาตตามเวลาเปิด แนะรัฐสนับสนุนกิจการ SMEs พร้อมต่อยอดวิชาชีพบาร์เทนเดอร์ด้วยซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย
วันที่ 22 ส.ค.2567ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว จากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดเผยว่า หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 28.15 ล้านคน สร้างรายได้และสร้างงานให้กับคนไทยหลายล้านคน เช่นนี้แล้วรัฐบาลจึงให้ความสำคัญและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านมาตรการและแคมเปญต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญและส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีจำนวนกว่า 3.2 ล้านรายในปี พ.ศ.2562 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 35.2 ของประเทศ โดยมีโครงการส่งเสริม SMEs จำนวนมากเพื่อให้ SMEs ไทยขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี SMEs ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกฎระเบียบและโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผศ.ดร.สุทธิกร เผยต่อว่า สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดทำ “รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบและภาษีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในแบบที่มีความสมดุล รอบด้าน อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งในเชิงการท่องเที่ยว การบริโภค และการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ SMEs โดยทีมวิจัยได้ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บวกกับใช้การสำรวจด้วยแบบสอบถามกับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ประกอบการ รวมทั้งสัมภาษณ์เชิงลึกตัวแทนจากสมาคม องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชนต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ รวมถึงความต้องการและช่องว่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ
ทั้งนี้ ผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติพบว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยนิยมดื่มเบียร์และสุราในร้านอาหารหรือบาร์มากที่สุด และปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ รสชาติ และบรรยากาศของร้าน ทั้งยังระบุด้วยว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น และกว่าร้อยละ 98 ไม่เคยประสบปัญหาหลังดื่มแอลกอฮอล์
ขณะที่ผลสำรวจจากผู้ประกอบการ ระบุว่า “ต้นทุน-กำหนดเวลาขาย-กฎหมายห้ามโฆษณา” คืออุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ทำให้เริ่มและขยายธุรกิจได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบในการจัดจำหน่ายซึ่งมีการกำหนดเวลาในการจัดจำหน่ายทำให้ผู้ประกอบการเสียรายได้และสร้างความไม่สะดวกให้นักท่องเที่ยว ส่วนกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีความไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ บางครั้งกลายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ใช้เรียกสินบนจากผู้ประกอบการด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเสนอให้ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของสุรานำเข้านั้นจะช่วยให้การทำค็อกเทลในประเทศเป็นมาตรฐานมากขึ้น ทั้งนี้เครื่องดื่มแบบค็อกเทลใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากท้องถิ่น มีสูตรและส่วนผสมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกรในประเทศและช่วยยกระดับเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน รวมถึงควรเปิดโอกาสในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีส่วนร่วมในตลาด มากกว่านี้ นำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจของชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มเอกลักษณ์ในการท่องเที่ยวของประเทศ
ทีมวิจัยยังได้สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ข้อ คือ การปรับกฎหมายในเรื่องเวลาและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การปรับลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนสุรานำเข้าเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว, การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแอลกอฮอล์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเก็บภาษีที่ปริมาณแอลกอฮอล์, และการเปิดโอกาสในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“การปรับกฎหมายในเรื่องเวลาขายแอลกอฮอล์ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมขึ้นจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวได้ อาทิ อนุญาตให้ขายได้ในช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม อนุญาตให้ขายในวันสำคัญทางศาสนาโดยจำกัดเฉพาะบางพื้นที่หรือเฉพาะแขกที่พักในโรงแรม ส่วนกฎหมายห้ามโฆษณานั้นก็ควรปรับปรุงให้ชัดเจนและเหมาะสม แทนที่จะห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ก็เปลี่ยนมาเป็นกำหนดให้มีการโฆษณาในลักษณะให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยในการบริโภค การปรับปรุงกฎระเบียนส่วนนี้จะช่วยลดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติตามกฎหมายด้วย นอกจากนั้นการกำหนดอัตราภาษีจากปริมาณแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวจะตรงเป้ากว่าในการลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่บริโภคสุราราคาถูกในปริมาณมากจนก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมา
ส่วนการปรับลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนสุรานำเข้านั้นก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มยอดขายของผู้ประกอบการ การส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการผลิตค็อกเทล การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน สำหรับนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ต้องการดื่มแบรนด์สุรานำเข้าที่คุ้นเคย การลดภาษีสุรานำเข้าจะทำให้ผู้ประกอบการจัดหาสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงและขายค็อกเทลที่มีมาตรฐานได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐเริ่มใช้นโยบายภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยลดภาษีเครื่องดื่มไวน์และแชมเปญ ทำให้เครื่องดื่มเหล่านี้มีราคาถูกลงใกล้เคียงกับราคาในต่างประเทศมากขึ้นแล้ว” ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าว
ขณะที่เสียงสะท้อนจากภาคโรงแรม ต่างเห็นตรงกันในการขอเป็นพื้นที่ขาย 24 ชั่วโมงให้นักท่องเที่ยว มั่นใจกำกับดูแลตามกฎหมายได้ โดย นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอในรายงานของ ผศ.ดร.สุทธิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์ รัฐควรยกเลิกการงดขายแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 ได้แล้ว เพราะกำหนดห้ามขายในเวลาเช่นนี้ไม่ได้มีผลต่อการลดการดื่ม โดยกฎหมายข้อนี้ประกาศใช้มานานแล้ว น่าจะมีการทบทวนโดยดูจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ตนตระหนักดีว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์นั้นมีข้อดีข้อเสีย การยกระดับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจึงไม่ใช่เรื่องการทำให้สินค้าประเภทนี้เข้ามาอยู่ในตลาดเพื่อให้คนบริโภคได้มากขึ้นแบบเดียวกับสินค้าจำเป็น มาตรการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ได้มีเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนดื่มกันมากขึ้น แต่เป็นการสนับสนุนการภาคท่องเที่ยว ผู้ดื่มเป็นนักท่องเที่ยว
“ผมอยากให้โรงแรมเป็นพื้นที่ที่สามารถขายแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมงสำหรับลูกค้า เพราะมันเป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีวัฒนธรรมในการดื่มโดยปกติอยู่แล้ว เมื่อเราขายได้ เราก็มีรายได้ แต่พอเราไม่มีบริการให้ นักท่องเที่ยวเขาหงุดหงิดนะ บางทีเขาลงจากเครื่องบินมาถึงที่พักกลางดึก กำลังเหนื่อย อยากดื่มเบียร์ ก็ดื่มไม่ได้ เพราะเราขายให้ไม่ได้ เราอยากให้พื้นที่โรงแรมเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มาพักผ่อนจริงๆ ซึ่งตอนนี้ทางสนามบินก็อนุโลมแล้ว ส่วนเรื่องการกำกับดูแลการดื่มแอลกอฮอล์ ปกติผู้ประกอบการโรงแรมไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ชื้อที่อายุต่ำว่า 20 ปีอยู่แล้ว การกำกับดูแลตนเอง หรือ Self-regulation ในรูปแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่สังคมมั่นใจได้เลยว่าโรงแรมทำได้ เพราะทุกโรงแรมต้องมีใบอนุญาต และการคงไว้ซึ่งใบอนุญาตก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจึงต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
ด้านผู้ประกอบการ SMEs ได้เสนอรัฐออกใบอนุญาตตามเวลาเปิด - แนะรัฐสนับสนุนกิจการ SMEs พร้อมต่อยอดวิชาชีพบาร์เทนเดอร์ไทยสู่มาตรฐานโลก เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย โดย นายศุภวิชญ์ มุททารัตน์ ผู้ก่อตั้ง Dry Wave Cocktail Studio และคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สภาผู้แทนราษฎร จากภาคประชาชน กล่าวว่า รายงานของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นสะท้อนสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของรายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงกฎหมายให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป และมีความชัดเจน ทั้งนี้ กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์หลายข้อมีมาตั้งแต่ปี 2551 บางข้อมีที่มาเก่ากว่านั้นอีก เช่น กำหนดเวลาห้ามขายแอลกอฮอล์ซึ่งมีรากฐานมาจากประกาศคณะปฏิวัติ พ.ศ.2515 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จึงอยากเสนอให้รัฐออกใบอนุญาตที่เหมาะสมกว่านี้
นายศุภวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า ตนอยากแนะนำให้รัฐสนับสนุนกิจการเครื่องดื่มที่เป็น SMEs มากกว่านี้ เพราะในกระแสปีหลังๆ เทรนด์ของสปิริต เหล้าไทย หรือเหล้าท้องถิ่น มาแรงขึ้น ในต่างประเทศสิ่งนี้กลายเป็นซอฟท์พาวเวอร์ เป็นวัฒนธรรมย่อย และมีธุรกิจหมุนเวียนลงไปมากมาย อีกประเด็นคือเรื่องวิชาชีพ ควรผลักดันให้มีการยกระดับภาคอาหารและเครื่องดื่มหรือการบริการต่างๆ หากคนเหล่านี้มีทางเลือกในวิชาชีพมากกว่านี้ มีการเรียนรู้อย่างเหมาะสมกว่านี้ การก่อร่างสร้างฐานของภาคธุรกิจย่อมจะไปได้ไกลกว่านี้
“หลังยุคโรคระบาด ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น เขายอมจ่ายมากขึ้นถ้ามันคุ้มค่า เราไม่ได้พูดถึงของถูกหรือแพงนะ เราพูดถึงของที่สมราคา สมกับความต้องการของลูกค้า ยังมีเรื่องเทรนด์ของความ luxury ความหรูหรา ที่ไม่ใช่ความแพงสุดโต่ง แต่คือการจ่ายที่คุ้มค่า สมเหตุสมผล ตัวอย่างเช่น ทำไมคนยอมจ่ายเงินเพื่อไข่เจียวปูเพราะรู้ว่ามันคุ้มค่า แพงเพราะอะไร มูลค่าที่เกิดขึ้นของไข่ปูจานนี้ลงไปถึงชาวประมงในภาคใต้ ลงไปถึงภาคชุมชน ไม่ได้จบแค่ที่กำไรของเจ้าของร้าน ท้ายสุดคือเรื่องความยั่งยืน ธุรกิจไม่ว่าจะแบบใดต้องก็การความยั่งยืน ผมจึงอยากฝากให้ภาครัฐช่วยพิจารณา” นายศุภวิชญ์ กล่าว