10.30 น. วันที่ 22 ส.ค.67 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม.ตัวแทนชาวบ้าน 5 อำเภอ ใน จ.นครราชสีมา และจ.ปราจีนบุรี  ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินการตรวจสสอบและเอาผิดตามมาตรา 157 กรณีอุทยานฯดำเนินกระบวนการรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่เป็นธรรม พร้อมให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ให้ข่าวบิดเบือนต่อสังคม ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน 

ตัวแทนชาวบ้าน 5 อำเภอ ใน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับซ้อนพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2524  จำนวน 97หมู่บ้าน 15 ตำบล ประชากรกว่า 40,000 คน ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อเอาผิดตามมาตรา 157 กรณีอุทยานฯดำเนินกระบวนการรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่เป็นธรรม พร้อมให้เอาผิดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งให้ข่าวบิดเบือนต่อสังคม ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน 

โดยชาวบ้านย้ำว่า การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกําหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะการดําเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยมิชอบ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกําหนดพื้นที่ การขยายและการเพิกถอนฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 4 (6)

นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจในการบังคับใช้กฎหมายและต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมของประเทศ ให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนในพื้นที่ที่ดําเนินการเพิกถอน
ตามประกาศทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดในสาระสําคัญว่าเป็นการประกาศเพิกถอนพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะได้มีการดําเนินการตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของ ประชาชน และในการจัดรับฟังความคิดเห็น ไม่มีหน่วยงานที่มีความเป็นกลางมาร่วมดําเนินการรับฟังความคิดเห็นด้วย
 
ประกอบกับ เจ้าหน้าที่กระทําการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีพฤติการณ์เข้าแทรกแซงกระบวนการรับฟังความเห็น โดยเห็นได้จากการให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน จนปลุกปั่นให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดต่อข้อมูลที่แท้จริงในพื้นที่   ซึ่งควรต้องดําเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

จากนั้นตัวแทนชาวบ้าน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันแลัปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช.