"นายกฯ" ชี้ปมพื้นที่ "ทับลาน" เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว ใต้ปีก "บิ๊กป้อม" ดูแลป่า ลั่นทุกอย่างต้องเดินตามกฎหมาย นายทุนจะถือสิทธิ์ไม่ได้ "รมว.เกษตรฯ" ออกตัวไม่เกี่ยวปมพิพาทอุทยานแห่งชาติทับลาน โยน "กระทรวงทรัพย์ฯ" จัดการปัญหาที่ดินทับซ้อน ด้าน "อธิบดีกรมอุทยานฯ" เผยรอคกก.เคาะปมที่ดินทับลานภายใน 30 วัน ย้ำยึดถูกต้อง-ให้สิทธิ์คนอยู่ก่อน-เกษตรกรเดิม

 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนในอำเภอทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ในเรื่องพื้นที่อนุรักษ์กับพื้นที่ทำกินของประชาชน ว่า เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงไปแล้ว ตนคงไม่มีอะไรนอกจากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นมติจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งงมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยกำกับดูแล เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญต้องรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนก่อนจะมีการเพิกถอน ซึ่งมีหลายกระบวนการที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย และนำเสนอ ครม.ต่อไป
    
 เมื่อถามว่า สังคมอ่อนไหวกับข่าวที่มีนายทุนเข้าไปครอบครองพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากจะมาทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ตนเข้าใจว่าพื้นที่ทับลานมีประชาชนที่เข้าไปอยู่กันอยู่แล้ว เมื่อถามว่า จำเป็นต้องยกเลิกมติ ครม.ปี 2566 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มี อยู่ระหว่างการศึกษา ต้องดูให้ครบขั้นตอนก่อน และเรื่องของ One Map ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาตรงนี้ด้วย
   
  ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอำเภอทับลาน จังหวัดนครราชสีมา ว่า ขั้นตอนขณะนี้ไม่อยู่ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผ่านมาทุกเรื่องของกระทรวงเกษตรฯภายใต้ทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติทั้งหมด กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดขึ้นในรัฐบาลหลายยุค แต่มาสรุปต้นปี 2566 ในรัฐบาลยุคที่แล้ว เรื่องการปรับแนวเขตปี 2543 โดยหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องไปดำเนินการ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ และขณะนี้ก็มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ขอให้เข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขออย่านำมาผสมผสานจนเข้าใจผิด ในฐานะที่ตนกำกับดูแล สปก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) หาก สคทช. เห็นชอบก็จะนำเสนอต่อครม. และเมื่อครม.เห็นชอบให้ สปก.นำไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรทำกินก็จะต้องนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจตรงนี้ตนเห็นสื่อบางสำนักไปโจมตี สปก. ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ดินที่มีปัญหาที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีปัญหามคาบเกี่ยว กับบางรีสอร์ทที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เคยไปจัดสัมมนาเมื่อปี 2562 และต่อมาก็มีมติมติครม. ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ เมื่อถามว่า จำนวนที่ดินที่ทับซ้อนประมาณ 150,000 ไร่ ในจำนวนนี้พบว่ามีของนายทุนและชาวบ้านนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ที่ดินเหล่านี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีคณะกรรมการตรวจสอบ และจำแนกชัดเจน ว่าตรงไหนที่ประชาชนร้องเรียนมา ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด จนนำไปสู่การประชุมของการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) ตนย้ำว่าต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนถึงแนวเขตว่าตรงไหนควรอนุอนุรักษ์เป็นป่า ตรงไหนที่ชาวบ้านอยู่แล้ว หลายคนที่ออกมานำเสนอก็มีข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่ากรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งมีมาตรการและขั้นตอนอยู่ เพราะฉะนั้นขอให้ใจเย็นๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์อยู่

 เมื่อถามว่า จะต้องใช้แผนที่ใดในการแบ่งเขต ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่จะปฏิบัติก็ต้องนำมติที่ผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินเข้าที่ประชุมครม. เมื่อถามย้ำว่า การออกสปก.ทับที่อุทยานเกิดขึ้นหลายพื้นที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวยืนยันว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่ต้องทำตามมติครม.เมื่อเห็นชอบอย่างไร เราก็ต้องนำไปปฏิบัติหากไม่ปฏิบัติก็จะโดนมาตรา 157 ดังนั้นเรื่องนี้ยังไม่ถึงกระบวนการของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) ตอนนี้เป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการ และหลังจากที่กรมอุทยานเห็นชอบอย่างไรก็จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนและตรงไหนที่เป็นกลุ่มนายทุนบุกรุกก็จะต้องถูกออกหมายจับดำเนินคดีอาญา ดังนั้นต้องแยกแยะระหว่างผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายกับปัญหาประชาชน

 นี่ไม่ใช่การงัดข้อกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องนี้เราคุยกันตลอด และผมก็ได้หารือกันกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งยังไม่ถึงกระบวนการที่สปก.จะเข้าไปดำเนินการ ร.อ.ธรรมนัส กล่าว เมื่อถามถึงปัญหาความเห็นไม่ตรงกันของทั้ง 2 กระทรวงที่มีบ่อยครั้ง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตอนนี้เรามีคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน 
 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลา 40 ปี นับตัังแต่ปี 2524 และพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าสงวนมาก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน ต่อมาได้มีการจัดสรรให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและชุมชนโดยรอบไปใช้ประโยชน์ทำกิน 5.8 หมื่นไร่ ต่อมาได้ประกาศพื้นที่อุทยานไปทับกับพื้นที่ดังกล่าว ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต  จึงมีข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ตรงนี้ออกจากเขตอุทยาน นำมาซึ่งการสำรวจพื้นที่ในปี 2543 กำหนดแนวเขตขึ้นใหม่ แต่ยังไม่สิ้นสุดตามกฎหมายทำให้พื้นที่ยังมีสภาพป่า

 ทั้งนี้ รัฐบาลหลายชุดพยายามแก้ปัญหาให้ประชาชน จนมาถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติให้กันพื้นที่ชุมชนออกไปอยู่ ในความดูแลสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยครม. มีมติเห็นชอบตาม คทช. โดยยกเว้นบุคคลที่มีคดีความจะไม่ได้รับการคุ้มครองและยกเว้นในที่ดิน โดยเรื่องคดีนับวันที่เกิดเหตุว่าทำผิดหรือไม่ 

 นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนการปรับปรับปรุงแนวเขตอุทยานที่เราเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศทางออนไลน์แล้วจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติแล้วใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน โดยคณะกรรมการยึดหลักความถูกต้องและฟังเสียงทั้งหมดทุกประเด็นในการพิจารณา ทั้งการทำกินและการรักษาพื้นที่ป่า ทั้งนี้พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มีทั้งชาวบ้านที่อยู่เดิม คนมาซื้อที่ต่อ  และกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดี 1.2 หมื่นไร่ ต้องนำมาพูดคุยว่าจะพิจารณาอย่างไร 

 ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะพิจารณาให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมใช้ประโยชน์ก่อนใช่หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า คนที่จะได้รับสิทธิ์ต้องมีคุณสมบัติ โดยชอบตามกฏหมาย แต่ทั้งหมดต้องรอรับฟังความเห็นและข้อยุติในคณะกรรมการอุทยาน ก่อนฯ
 เมื่อถามว่า จากมติครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ถูกมองว่าเป็นการเอื้อให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำรีสอร์ท นายอรรถพล กล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่ และพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยให้คงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ และที่ดินส.ป.ก.ยังถือเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ใครใช้ประโยชน์จะต้องมีคุณสมบัติ หากคุณสมบัติไม่ถูกต้องจะถูกนำที่ดินกลับคืน ส่วนบุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จะไม่ได้รับการยกเว้น

 เมื่อถามย้ำว่า หากมีการจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์ใหม่ จะให้สิทธิ์ชาวบ้านที่อยู่เดิมหรือพิจารณาชาวบ้านทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับเท่ากันหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า สถานภาพของพื้นที่ได้เท่ากัน แต่คุณสมบัติของคนที่จะได้รับไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิมบางคนมาซื้อเปลี่ยนมือ บางคนมากว้านซื้อทีหลังซึ่งน่าจะไม่มีสิทธิ์

 เมื่อถามอีกว่า ผู้ที่เป็นเกษตรกรใช้ที่ดินทำกิน จะได้รับการพิจารณาจัดสรรก่อนใช่หรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ถูกต้อง  นี่คือ หลักการการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ถือครอง ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมครม. พิจารณายกเลิกมติครม. เดิม ที่ทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ต้องรอความเห็นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก่อน