แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงพ.ศ.2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2561 แต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีการรณรงค์จับหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร กลับพบปลาหมอมายันในบ่อเลี้ยงกุ้งจำนวนมากจนทำให้เจ้าของบ่อขาดทุน และยังพบปลาหมอบัตเตอร์ระบาดในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิต์ ที่ชาวบ้านบอกว่าหนักหนาในระดับที่เข้าไปทดแทนปลาพื้นถิ่นทั้งปลาช้างเหยียบและปลาแรด  

เนื่องจากช่วงนี้สังคมสนใจปลาหมอคางดำเป็นพิเศษ จึงไม่ติดใจการระบาดของปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ ทั้งที่ปลาทั้ง 3 ชนิด เป็นปลาต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งสิ้น สำหรับปลาหมอคางดำอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบก็ว่ากันไปตามขบวนการ เนื่องจากมีการขออนุญาตนำเข้าถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว แต่ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ ไม่มีประวัติการนำเข้าแต่มีการระบาด เราควรมีการสืบค้นและจับกุมต้นตอของการแพร่ระบาดมารับคำพิพากษาเช่นกันหรือไม่ 

การลักลอบนำเข้าปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่หย่อนยาน ขาดการตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยเฉพาะกรมประมง ทำให้ปลาต่างถิ่นกลุ่มรุกราน (Invasive Species) เล็ดรอดเข้ามาระบาดในประเทศไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้จะอ้างว่ามันระบาดอยู่ในวงจำกัด...ความจริงคือปลาทั้ง 2 ชนิด ไม่ควรพบในประเทศไทย

ที่สำคัญทั้งปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ ปรากฏกายในแหล่งน้ำของประเทศไทยโดยไม่มีการตั้งคำถาม ซึ่งกรณีนี้คงไม่มีสามารถใช้เหตุผลว่าเป็นการกรอกเอกสารในระบบผิดพลาดได้อีก เพราะไม่มีบริษัทใดขออนุญาตนำเข้าเป็นตัวตน ต้องบอกว่าปลาดังกล่าวว่ายน้ำข้ามทะเลข้ามทวีปมาไทยแบบตัวเป็นๆ และมาออกลูกออกหลานตั้งรกรากใหม่ในไทย โดยที่หน่วยงานภาครัฐไม่เคยคิดจะปราบปรามหรือแจ้งให้สังคมรับทราบว่ามีปลาเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย

ข้อมูลจากสื่อดิจิทัลหลายช่องทาง ทำให้รับทราบข้อมูลจำเป็นเกี่ยวกับรกรากของปลาหมอมายัน (Mayan cichlid) ว่าเป็นปลาพื้นเมืองในแถบอเมริกากลาง เติบโตได้ดีในน้ำจืดและน้ำกร่อย พบในประเทศไทยพบครั้งแรกเมื่อปี 2548 จับได้จากคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางขุนเทียน ส่วนปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia, Zebra cichlid) มีสีสันและลวดลายสวยงาม เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายปลานิล ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตะวันตก มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว พบในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546 ที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนสิริกิตต์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เหนือสิ่งอื่นใดปลาทั้ง 2 ชนิด ห้ามนำเข้า กรมประมงควรหาผู้รับผิดชอบจากผลกระทบที่เกิดขึ้นและหาคำตอบว่าปลาเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร

การกำหนดเพียงบทลงโทษจากการละเมิดกฎหมายสัตว์น้ำเพียง โดยผู้ฝ่าฝีนมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ไม่ใช่หลักประกันการป้องกันไม่ให้มีสัตว์น้ำต้องห้ามอื่นเข้ามาในประเทศได้ หากแต่กรมประมงควรมีมาตรการตรวจสอบและป้องกันที่รัดกุมอย่างเคร่งครัด การขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงและเกษตรกรต้องทำอย่างเป็นระบบ และมีการสอบทวนเพิ่มเติมกฎระเบียบจำเป็นให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม 

อย่างไรก็ตาม กรมประมง ควรเร่งจัดการปัญหาการระบาดของปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์โดยเร็วเช่นกัน เพื่อควบคุมจำนวนประชากรของปลาทั้ง 2 ชนิด ไม่ให้แพร่พันธุ์หรือยึดพื้นที่เข้าไปทดแทนปลาพื้นถิ่นของไทยได้เหมือนปลาหมอบัตเตอร์ในเขื่อนสิริกิต์ เพื่อสร้างหลักประกันอาหารมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ต้องจับตาดูประสิทธิภาพของกรมประมงในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพราะขณะนี้มี 19 จังหวัด ที่อยู่ในบัญชีการแพร่ระบาดของปลาแล้ว การเดินหน้าแผนปฏิบัติงาน 5 แนวทางหลัก ให้เกิดผลสัมฤทธิ์หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเข้มแข็งและจริงจัง ทั้งการจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและนำไปใช้ประโยชน์, การปล่อยปลาผู้ล่า, การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร, การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเหนี่ยวนำโครโมโซมเพศปลาและการสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ให้กับชุมชน ในการมีส่วนร่วมกำจัดปลาหมอคางดำ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ให้หยุดชะงัก ไม่ให้เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดินเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

โดย : สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ