สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสงสัยและมีพระราชปรารภเป็นคำถามว่า “ปลาไทยหายไปไหนหมด”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระราชหฤทัยพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือบทเห่ชมปลาของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในช่วงปีพุทธศักราช 2533 - 2534 ระหว่างที่ทรงเยี่ยมราษฎรและทรงปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทรงสดับรายงานจากกรมประมงเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาชีพของกรมประมงหลายโครงการ ซึ่งใช้พันธุ์ปลาต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ปลาจีน จากประเทศจีน ปลายี่สกเทศ ปลาหมอเทศ ปลากระโห้เทศ ปลานวลจันทร์เทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาจากประเทศอินเดีย พระองค์จึงมีพระราชดำริ ให้กรมประมงฟื้นฟูปลาไทยกลับมามีจำนวนมากขึ้น และอนุรักษ์ปลาหายากไว้ กรมประมงรับสนองพระราชดำริถือเป็นโครงการหลัก และยึดถือว่าถ้าปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเป็นปลาไทยเท่านั้น

 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้รับสนองพระราชดำริ จัดทำโครงการฟื้นฟูปลาไทยเป็นโครงการต่อเนื่อง ดำเนินการสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาไทยได้เกือบทุกชนิด โดยเฉพาะปลาไทยตามกาพย์เห่เรือบทเห่ชมปลาของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ทั้ง 17 ชนิด ได้แก่ ปลานวลจันทร์ ปลาคางเบือน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาทุก ปลาน้ำเงิน ปลากราย ปลาหางไก่ ปลาสร้อย ปลาเนื้ออ่อน ปลาเสือ ปลาแมลงภู่ ปลาหวีเกศ ปลาชะแวง ปลาชะวาด และปลาแปบ ยกเว้นปลาหวีเกศซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วเนื่องจากมีแห่งเดียวในโลก คือในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งที่มีพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ อาศัยอยู่อย่างมากมาย เช่น ปลายี่สก ปลากา ปลาบ้า ปลาสวาย และกุ้งก้ามกราม เป็นต้น

 

โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย เป็นโครงการพระราชดำริโครงการหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำจืดของไทยที่หายากหรือมีโอกาสสูญพันธุ์ แล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทดแทนปริมาณสัตว์น้ำ โดยในปี 2567 โครงการฯ มีแผนดำเนินงานผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 26,470,300 ตัว ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 56 ชนิด จาก 54 หน่วยงานทั่วประเทศ ซึ่งการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำยังเป็นการเพิ่มรายได้และเพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนแก่ราษฎร ผู้ยากไร้ในชนบท นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงในเชิงการค้าสามารถเพิ่มรายได้ตลอดจนสามารถคืนความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะรักษาสภาพความสมดุลตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ อันจะนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป                

ไม่เพียงเฉพาะพันธุ์ปลาไทยเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี    พันปีหลวง ยังทรงสังเกตเห็นว่ากุ้งก้ามกรามในประเทศไทยน้อยลง จึงมีรับสั่งถามว่า “กุ้งเดี๋ยวนี้หายไปไหนหมด ไม่ค่อยมีขาย ต้องนำเข้ากุ้งจากพม่ามา” กรมประมงจึงได้กราบบังคมทูลรายงานว่า ปัญหาเกิดจากคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ออกซิเจนมีไม่เพียงพอที่กุ้งจะอพยพย้ายถิ่นออกไปปากอ่าวได้ เนื่องจากกุ้งก้ามกราม ไม่ใช่กุ้งน้ำจืดแท้ ต้องว่ายน้ำไปออกไข่ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำจนอายุ 14 – 35 วัน ถึงจะว่ายน้ำกลับมาในพื้นที่น้ำจืดเพื่อเจริญเติบโต แต่ระหว่างการเดินทางพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพมหานคร คุณภาพน้ำไม่ดี ออกซิเจนในน้ำน้อย ทำให้กุ้งไปไข่ในน้ำกร่อยหรือเดินทางกลับมาน้ำจืดไม่ได้ พระองค์จึงมีรับสั่งถามว่า “เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร” 

 

เมื่อทรงทราบปัญหาการแพร่พันธุ์วางไข่ของกุ้งก้ามกราม จึงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาวิจัยการเพาะลูกกุ้งในสถานีทดลอง โดยสร้างระบบนิเวศเทียมขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ ทำให้แม่กุ้งวางไข่ในน้ำที่มีสภาพเหมาะสม ณ สถานีทดลอง เมื่อไข่กุ้งฟักเป็นตัวอ่อนในน้ำกร่อยจะอนุบาลจนลูกกุ้งพร้อมจะเติบโตในน้ำจืด และสามารถนำมาปล่อยทดแทนได้ ขณะนั้นกรมประมงโดยสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติ จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง) สามารถเพาะพันธุ์กุ้งได้แล้ว โดยเอาน้ำเค็มมาเพาะพันธุ์กุ้งในสถานี แล้วก็สามารถนำมาปล่อยทดแทนได้ โดยปีพุทธศักราช 2527 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และได้ทรงปล่อยลูกกุ้งชุดแรกที่หน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 


นับแต่นั้นเป็นต้นมา กรมประมงได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้ในปัจจุบันกุ้งก้ามกรามในธรรมชาติเพิ่มปริมาณมากขึ้น ราษฎรที่อาศัยในชุมชนที่ตั้งอยู่ตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้อาศัยทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพและสร้างรายได้ โดยเฉพาะชาวประมงที่มีอาชีพหาปลา ตกและงมกุ้งก้ามกราม ต่างได้พึ่งพาอาศัยเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับราษฎร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นโครงการในพระราชดำริที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกุ้งก้ามกรามที่จับได้จากแม่น้ำเจ้าพระยาว่า “กุ้งสมเด็จ”

สำหรับปี 2567 กรมประมงได้จัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 ณ ท่าชัยยุทธ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นประธานในพิธี มีผู้บริหารจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บริหารกรมประมงเข้าร่วมพิธี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตกุ้งก้ามกรามในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำประกอบด้วย กุ้งก้ามกราม จำนวน 1,020,000 ตัว และพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยขาว ปลาชะโอน และปลาบู่ จำนวน 201,093 ตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,221,093 ตัว ปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ กรมประมงยังได้จัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ และเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 16,400,000 ตัว รวมจำนวนพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อยทั่วประเทศกว่า 17,621,093 ตัว

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเล็งเห็นว่าทรัพยากรสัตว์น้ำกำลังลดจำนวนลง หรือสูญหายไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หากไม่รีบฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมแล้ว ราษฎรของพระองค์จะได้รับผลกระทบเนื่องจากขาดแคลนแหล่งอาหารโปรตีนที่สามารถหาได้ง่ายไว้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไว้สร้างอาชีพเลี้ยงครอบครัว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงห่วงใยราษฎร ซึ่งกรมประมงจะยังคงยึดมั่นสานต่อพระราชปณิธานการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงอยู่คู่แหล่งน้ำของประเทศไทย สมดังคำโบราณที่ว่า “ในน้ำ มีปลา” เพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีกิน มีอาชีพจากทรัพยากรสัตว์น้ำตลอดไป.