"ซีพี" เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 ตอกย้ำวิสัยทัศน์สร้างความยั่งยืน มุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน และปรับโมเดลธุรกิจรับความท้าทายโลก 5.0

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.67 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้จัดทำและเผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการแล้ว ภายใต้แนวคิด "For a Better Tomorrow" รายงานฉบับนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ความยั่งยืนในปี 2573 โดยมีการกำหนด 15 เป้าหมายสำคัญตามกรอบการดำเนินงาน 3 Hs คือ Heart, Health, และ Home ครอบคลุมทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) พร้อมนำเสนอกรณีศึกษาภายใต้ธีม  “Inclusive Supply Chain Actions for Sustainable Tomorrow” เพื่่อเป็นการแสดงให้ผู้มีส่วนได้เสียให้เห็นถึงการส่งต่อเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเครือฯ สู่คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ 

ในรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดนี้ ได้แสดงถึงเจตนารมย์และความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืนของผู้นำองค์กร โดยผู้นำคนแรก นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงการเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและการพัฒนาบุคลากรในรายงานฉบับนี้ว่า "สถานการณ์โลกในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในหลากหลายมิติ เครือฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จึงได้บัญญัติค่านิยมองค์กรเพื่อให้บุคลากรใช้ยึดมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ โดยบุคลากรเครือฯ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำเอาแก่นแท้ของค่านิยมมาบูรณาการ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถก้าวทันโลกอนาคตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน" นายธนินท์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เอไอไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ และเครือซีพีให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผ่านการฝึกทักษะฝีมือแรงงานและการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความรู้และคุณธรรมแก่บุคลากรในทุกระดับ

นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวอีกว่า "ความยั่งยืนเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตและก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง เครือฯ ได้กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การเติบโตสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ล้ำหน้า ด้วยการพัฒนาและใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักค่านิยมองค์กร 6 ประการ ที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนในทุกประเทศที่เครือฯ เข้าไปลงทุน" นายสุภกิตยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดความยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น

สำหรับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า "ปี 2566 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสในหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digitalization) การลดภาวะโลกร้อน (Decarbonization) และการสร้างความสมดุลในภาวะโลกแบ่งขั้ว (Deglobalization) ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ไม่เพียงแค่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น" นายศุภชัยยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องความยั่งยืน การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ขององค์กร และการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสังคมแห่งภูมิปัญหาที่ยั่งยืน (Sustainable Intelligence)

ในรายงานความยั่งยืน ปี 2566 ระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีรายได้รวม 3,320,897 ล้านบาท และมีพนักงาน รวม 452,794 คนกระจายอยู่ในกว่า 21 ประเทศทั่วโลกที่เครือซีพีเข้าไปลงทุน ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการดำเนินงานในโรงงานผลิต,ฟาร์มเลี้ยงสัตว์, ร้านค้าปลีก ศูนย์จำหน่ายสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนากว่า กว่า  18,869 แห่ง

ทั้งนี้ในปี 2566 เครือซีพีได้มุ่งเน้นสร้างสรรค์มูลค่าเพื่อสังคม โดยเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การส่งเสริมการศึกษา และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งในรายงานฉบับนี้ได้ระบุถึงความคืบหน้าที่สำคัญหลายประการ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรายงานว่าเครือซีพีได้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ (Scope 1 & 2) ได้ร้อยละ 9.45 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2564 และตั้งเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 สำหรับการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รายงานว่าในปี 2566 เครือฯได้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวลง 24.78 พันตัน และมีเป้าหมายในการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ นอกจากนี้ในด้านการพัฒนาคนรุ่นใหม่ เครือฯ ได้ลงทุนในการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่กว่า 597 ล้านบาทในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ พร้อมกับการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนกว่า 190,000 คนทั่วโลก

รายงานความยั่งยืนนี้ยังได้นำเสนอผลการสำรวจความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เนื่องจากเห็นว่ามีความสำคัญและส่งเสริมให้เครือฯ มีความเข้าใจต่อแนวโน้มและสถานการณ์ที่ปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น นายหวัง เผิง พนักงาน บริษัท C.P.Food (Hengshui) จำกัด ระบุว่า ในฐานะพนักงาน ผมให้ความสําคัญกับการส่งเสริมความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความสามารถใหม่ ๆ และการเปิดโอกาสให้มีมุมมองที่ออกนอกกรอบ โดยเครือฯ มีโครงการสร้างผู้นำและพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ซึ่งเป็นการร่วมมือ ข้ามแผนกหรือข้ามบริษัท และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้กับการทํางานจริง และช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้และเติบโตในทางปฏิบัติและปรับปรุงความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง

นาย Mohit Purbey บริษัท Bunge Asia Ptd.Ltd. คู่ค้าทางธุรกิจ ให้ความเห็นว่า วันนี้ เครือฯ เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการไม่ทนต่อการตัดไม้ทำลายป่าและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้ร้อยละ 100 ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ Bunge ที่จะปราศจากการตัดไม้ทําลายป่าร้อยละ 100 ภายในปี 2568 ซึ่งการทํางานร่วมกันจะสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวอย่างในอุตสาหกรรม และช่วยพัฒนาระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ เรามุ่งมั่นที่จะมีอิทธิพลต่อทิศทางของอุตสาหกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการเชิงบวก ของเราจะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้อื่น

ทั้งนี้ยังมีความเห็นจากเกษตรกร คือ นายสมชัย เพียงขวัญหทัย สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรมูลค่าสูง บ้านทุ่งจำเริง  ต.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระบุถึงโครงการอมก๋อยโมเดล ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เข้ามาช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนผ่านการสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ที่มั่นคง โดยโครงการฯ ดำเนินงานภายใต้แผนงานเกษตรมูลค่าสูง ใช้การส่งเสริมเกษตรแบบตลาดนำการผลิต โดยมีการวางแผนการผลิตร่วมกับกลุ่มเกษตรกรฯ ทำให้การผลิตพืชเกษตรมูลค่าสูงใช้พื้นที่ในการผลิตน้อย แต่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า มีการบริหารจัดการแปลงปลูกที่ถูกวิธีตามหลักวิชาการ ส่งผลให้เกษตรกรมีพื้นที่เหลือใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากการปลูกพืชรายได้

นอกจากนี้ในรายงานฉบับดังกล่าวยังมีการรับฟังความเห็นทั้งจากลูกค้า รวมไปถึงกลุ่มภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ประเทศไทย ภาคชุมชน สังคม คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ และกลุ่ม NGOs องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน

อย่างไรก็ตาม รายงานความยั่งยืนปี 2566 เครือซีพี ได้แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 (Carbon Neutral) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero) การลดการเกิดขยะสู่หลุมฝังกลบ (Zero Waste) และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่เครือฯ มุ่งหวังที่จะบรรลุให้ได้ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ในรายงานยังมีการวิเคราะห์เชิงลึกและการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนแบบ Double และ Dynamic Materiality ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการความเสี่ยงเพื่อสร้างคุณค่าในระยะยาว เครือซีพี ยังได้จัดทำรายงานเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ เพื่ออธิบายแนวทางและผลการดำเนินงานในแต่ละด้านอย่างละเอียด

รายงานฉบับนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนความสำเร็จในปีที่ผ่านมา แต่ยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีสู่อนาคต และสื่อสารผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสีย   มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า  เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในทุกมิติ