โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีการบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อน โดยใช้แผนงาน งบประมาณจากกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานร่วมบูรณาการ ได้จัดทำแผนปฏิบัติงาน รวมทั้งขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานโครงการให้เป็นรูปธรรม มุ่งเน้นการฟื้นฟูดินให้สมบูรณ์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกษตรกร สามารถเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านวิชาการ กล่าวว่า โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในพื้นที่สูง ซึ่งมีการดำเนินงานบูรณาการร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยการสร้างลักษณะเป็นศูนย์เรียนรู้ สร้างฐานเรียนรู้ ได้แก่ฐานด้านการพัฒนาที่ดิน ฐานด้านการปศุสัตว์ ฐานด้านการประมง ฐานด้านการผลิตพืช โดยใช้เทคโนโลยีของมูลนิธิโครงการหลวง ในส่วนด้านดินเป็นภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน ในส่วนเรื่องน้ำและแหล่งน้ำ เป็นภารกิจของกรมชลประทาน
นอกจากนี้ส่วนที่เป็นอาหารโปรตีน ได้รับองค์ความรู้จาก กรมปศุสัตว์ และกรมประมง เข้ามาส่งเสริมอาชีพทั้งการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงปลา ในเรื่องของการรวมกลุ่มของเกษตรกร มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้ารวมกลุ่มเกษตรกรในการปลูกผัก หรือการปลูกพืช อีกหนึ่งหน่วยงาน คือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่งเสริมเรื่องของการดูต้นทุนการผลิต และส่งเสริมเรื่องของการออม ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ช่วยส่งเสริม ฐานด้านการพัฒนา ธนาคารอาหารชุมชน เป็นการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นที่สำหรับชุมชน เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ในบริเวณพื้นที่ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการปฏิบัติในการผลิตอาหาร ทำให้ชุมชนได้มีอาหารบริโภค ในช่วงที่ขาดแคลน อย่างเช่น ช่วงเกิดวิกฤตโควิด ชุมชนแห่งนี้ได้มีอาหารจากธนาคารอาหารชุมชน ที่มีการพัฒนาโดยศูนย์เรียนรู้เกษตรวิชญา
กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการเกษตรวิชญา วางแผนการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง พัฒนาพื้นที่ทั้งหมด มุ่งเน้นการดูแลปรับปรุงดินในพื้นที่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยหมัก และน้ำหมัก เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และยังคงพัฒนาโครงการเกษตรวิชญา พื้นที่หมู่บ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกัน กับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตร ตลอดจนส่งเสริม ด้านการวางแผนการผลิต และการตลาดให้แก่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อย่างยั่งยืน