รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา กล่าวว่ามทร.ล้านนาให้ความสำคัญในเรื่องของการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรมและโปร่งใส ซึ่งทุกๆ ปี ผู้บริหาร มทร.ล้านนาทุกท่านต่างผลักดัน และส่งเสริมให้หน่วยงานทุกระดับของมหาวิทยาลัย ทั้งผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินบริหารงานด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใส และในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดย มทร.ล้านนา ได้คะแนน 91.07 อยู่ในระดับผ่านดี เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาบวกเพิ่ม 11.67 คะแนน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการประเมินรายตัวชี้วัด พบว่า การเปิดเผยข้อมูล ได้คะแนนมากสุด 97.14 รองลงมา การใช้อำนาจ ได้คะแนน 95.25 การปฎิบัติหน้าที่ ได้คะแนน 92.26 การป้องกันการทุจริต ได้คะแนน 91.67 การใช้งบประมาณ ได้คะแนน 91.41 คุณภาพการดำเนินงาน ได้คะแนน 91.04 การแก้ไขปัญหาการทุจริต ได้คะแนน 87.69 ประสิทธิภาพการสื่อสาร ได้คะแนน 87.06 การใช้ทรัพย์สินของราชการ ได้คะแนน 85.85 และการปรับปรุงการทำงาน ได้คะแนน 83.47
“ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องได้รับการประเมินในเรื่องของความโปร่งใสในการปฎิบัติราชการ โดยปีนี้ผลการประเมินของ มทร.ล้านนาดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ มาก ซึ่งความสำเร็จมาจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความสามัคคี และความร่วมมือของบุคลากรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้บริหารที่ต้องไม่ได้มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องเป็นต้นแบบในเรื่องความเป็นธรรมและการทำงานที่โปร่งใส มทร.ล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี กำลังคนขั้นสูง ที่มีบุคลากรประมาณ 1,000 กว่าคน และฝ่ายสนับสนุน 800 คน รวมถึงนักศึกษา การแสดงออก การมีภาวะผู้นำในเรื่องนี้ผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่าง และหมดยุคที่ผู้บริหารจะเป็นผู้สั่ง แต่ต้องรับฟังและร่วมทำงานขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ” รศ.ดร.อุเทน กล่าว
รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อไปว่า ผลการประเมินดังกล่าวเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นกำลังใจให้ทาง มทร.ล้านนาบริหารมหาวิทยาลัยด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทางผู้บริหารได้ตั้งเป้าจะเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการบริหารงานในแต่ละตัวชี้วัดให้ได้รับผลคะแนนมากขึ้น ประมาณ 30% อยากอยู่ระดับคะแนน 95-100 ให้ได้ ดังนั้น การบริหารงานจะเน้นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน เห็นเป้าหมายเดียวกัน ขณะที่ผู้บริหารจะทำงานเป็นลมใต้ปีกที่ทำให้ครูบาอาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกิดการพัฒนา เปลี่ยนแปลงในระดับที่ดีขึ้น อันนำไปสู่การพัฒนาและผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีทักษะ สามารถคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ประเทศต่อไปได้