"ผอ.เขตบางซื่อ" เผยไม่มีอำนาจไปย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ ชี้ต้องรอการพิจารณาจาก "ขสมก." ก่อน วอนชาวบ้านลดทิฐิ ใช้เหตุผลคุยกัน "สจส." ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องปมย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารสรุปมีความเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ชี้มีความสะดวกกว่าจุดเดิม ยอมรับลำบากใจ แนะไปคุยกันเองให้จบก่อน ด้าน"สก.เขตบางซื่อ" จี้แก้มติย้ายจุดรอรถโดยสารให้ตรงตามประชาพิจารณ์ เพื่อ สจส.จะได้ตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารให้ถูกต้องตามมติคณะกรรมการฯ ต่อไป

 เมื่อวันที่ 20 ส.ค.67 นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทของประชาชนในพื้นที่ย่านหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ เรื่องการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ ว่า สำนักงานเขตบางซื่อได้ทำการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านไปพื้นที่แล้ว 1 ครั้ง ตามคำแนะนำขอความร่วมมือจากคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งความคิดเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ย้ายไปจุดเดิม ส่วนเรื่องจะดำเนินการย้ายตามความคิดเห็นชาวบ้านหรือไม่นั้น คณะกรรมการจาก ขสมก. เป็นผู้พิจารณาตามขอบเขตอำนาจ หากจะย้ายมาจุดเดิมตามความคิดเห็นชาวบ้าน ทางคณะกรรมการต้องแก้ไขมติเดิมเพื่อออกมติใหม่ กำหนดให้ป้ายรถเมล์กลับมาอยู่ในจุดที่ชาวบ้านต้องการ เนื่องจากตามมติเดิมป้ายรถเมล์อยู่ในจุดที่เพิ่งมีการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารไป โดยเรื่องดังกล่าว สำนักงานเขตไม่มีอำนาจไปกำหนดจุดย้าย มีหน้าที่สำรวจความคิดเห็นชาวบ้านเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น ต้องรอการพิจารณาจาก ขสมก.ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการดังกล่าว


 ด้าน นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า กทม.มีแผนย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ เมื่อประมาณปี 2553 เพื่อให้ตรงตามคณะอนุกรรมการพิจารณาปักป้ายรถโดยสารประจำทาง กรมการขนส่งกำหนด ซึ่งก็คือจุดที่มีการย้ายไปในปัจจุบัน แต่เข้าใจว่าในเวลานั้นติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงยังไม่ได้ย้าย


  ที่ผ่านมา กทม.มีการปรับปรุง ย้าย หรือยุบศาลาที่พักผู้โดยสารในกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องปกติ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้งานตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของเมืองเช่น บางจุดไม่มีผู้ใช้งาน อาจเป็นจุดล่อแหลม ไม่มีความปลอดภัย หรือไม่สะดวกต่อผู้ใช้งานในปัจจุบัน เป็นต้น 


 ส่วนการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อไปยังจุดใหม่ จากการประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าเหมาะสมแล้ว นอกจากจะตรงจุดที่กรมการขนส่งกำหนดไว้แต่เดิมแล้ว ยังมีความสะดวกกว่า เนื่องจากจุดเดิมถูกสะพานลอยบดบังการมองเห็นรถโดยสารที่กำลังจะมาถึง ส่วนจุดใหม่ที่ย้ายไปอยู่ห่างจากจุดเดิมประมาณ 30 เมตร สามารถมองเห็นได้สะดวกกว่า ไม่ถูกสะพานลอยบดบัง


 ทั้งนี้ ตามหลักการ เจ้าของพื้นที่สามารถขอย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารเพื่อเปิดทางเข้าออกโครงการได้ โดยมีหนังสือแจ้งและหนังสือตอบกลับจาก สจส.ตามระเบียบ ซึ่ง สจส.ต้องดำเนินการย้ายให้ตามเหตุผลความจำเป็นอยู่แล้ว แต่หากเป็นการสร้างอาคารพาณิชย์ไม่เปิดทางเข้าออกบริเวณดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่กรณีพิพาทที่เกิดขึ้น สจส.และกรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นคนกลาง มีความลำบากใจ เนื่องจากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น คู่พิพาทต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน หากดำเนินการไปทางใดทางหนึ่งก็อาจถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างอีกฝ่าย โดยไม่เป็นธรรม จึงหาทางออกด้วยการให้ชาวบ้านในพื้นที่เจรจาตกลงกันตามเหตุผล เมื่อได้ข้อยุติแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการเพื่อไม่เกิดปัญหาภายหลัง


 ขณะที่ นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางซื่อ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์ แต่เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจของทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่ยอมกัน มีการปิดป้ายตอบโต้กันระหว่างเจ้าของที่กับชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาเกิดขึ้น 
 อย่างไรก็ตาม เมื่อทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว คณะกรรมการจากกรมการขนส่งทางบกก็ควรดำเนินการไปตามความเห็นที่เกิดขึ้น แก้มติย้ายจุดรอรถโดยสารให้ตรงตามประชาพิจารณ์ เพื่อ สจส.จะได้ตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารให้ถูกต้องตามมติคณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกต่อไป


 "หากดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน เปลี่ยนมติกำหนดจุดรอรถเมล์ตามผลประชาพิจารณ์เรื่องนี้ก็จบ ส่วนเจ้าของที่จะดำเนินการอย่างไรต่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาตอนนี้คือการใช้อารมณ์ของทั้งสองฝ่าย ส่วนป้ายรถเมล์จุดใหม่มองว่าเหมาะสมแล้ว มีความปลอดภัยกว่า แต่เนื่องจากตั้งผิดจุดมาตั้งแต่แรก จึงควรเจรจากันดีๆ แจ้งให้คนในพื้นที่ทราบก่อนย้าย และแก้ไขมติให้ถูกต้องก่อนย้ายมายังจุดเดิมที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการ" ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าว