เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มบริษัทในเครือ ผนึกภาครัฐ - ชุมชน Kick off โครงการ "ร้อย รักษ์ โลก ปลูกเพื่อความยั่งยืน จ.เชียงราย” ต่อยอดเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำภาคเหนือ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการ "ร้อย รักษ์ โลก ปลูกเพื่อความยั่งยืน จ.เชียงราย” สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีคณะผู้บริหาร นำโดย นายณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายนิพนธ์ มุ่ยเรืองศรี ที่ปรึกษา สำนักสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ธุรกิจพืชครบวงจร ข้าวขนส่งและบริการ นายณรงค์ อภิชัย ประธานสายปฏิบัติการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุมชน เด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมกว่า 200 คน ร่วมกันปลูกกล้ากาแฟ และไม้ป่า รวมกว่า 25,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ณ บ้านพะน้อย ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลโดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางและมาตรการร่วมกัน สำหรับ จ.เชียงราย ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ฯที่สำคัญ รวมกันกว่า 6 ล้านไร่ ในฐานะภาคเอกชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมทั้งยังช่วยต่อยอดด้านเกษตรกรรมของชุมชนในการปลูกกาแฟ เพื่อรักษาสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ลดการบุกรุกป่า พร้อมทั้งยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและจังหวัดได้
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ และกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพี มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่จะปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งในกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรเทาปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็ก PM 2.5 ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่จะเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2030 และ Net zero ในปี 2050 ปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 11 ล้านต้น
โดย “โครงการ ร้อย รักษ์ โลก ปลูกเพื่อความยั่งยืน จ.เชียงราย” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ตามนโยบายของ นายณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีเป้าหมายหลัก คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งยังมองถึงการพัฒนาอาชีพและชุมชนควบคู่กันจะทำให้เกิดความยั่งยืน โดยผนึกกำลังทุกภาคส่วนส่งเสริมชุมชนปลูก “กาแฟสร้างป่า” ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพิ่มช่องทางตลาด เพื่อเป็นทางเลือกด้านอาชีพและสร้างรายได้ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ จึงเกิดเป็นโครงการผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SLDP โดยบูรณาการองค์ความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยมี เยาวชนต้นแบบ “แอนโทนี ปิยชนม์” ยุวทูต SEAMEO องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเป็นบุคคลต้นแบบในโครงการฯ และเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญแก่เยาวชนคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
สำหรับภายในงาน มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จ.เชียงราย อาทิ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่15 (เชียงราย) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองใน และกลุ่มธุรกิจภายในเครือซีพี ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยชุมชนและเกษตรกร ร่วมกันปลูกต้นไม้รวมกว่า 25,000 ต้น ได้แก่ กล้ากาแฟ และกล้าไม้ป่า ได้แก่ พญาเสื้อโคร่ง มะค่า ประดู่ มะขามป้อม
ขณะเดียวกันได้เยี่ยมชมบูธของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกาแฟบ้านอาโต่ จากโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดําริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้กระบวนการปลูกและการผลิตที่ยั่งยืน และบูธผลงานจากโครงการค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม โดย “แอนโทนี ปิยชนม์” สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการปลูกฝังความรู้และการมีส่วนร่วมให้แก่เด็กและเยาวชนในภาคเหนือ แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ในถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง ผ่านแนวคิดจากจุดประกายเริ่มต้นเล็กๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ โดยเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและมุ่งสู่ความยั่งยืนได้