ไม่ผิดอะไรกับชะตาชีวิตที่มีขึ้น มีลง หากเปรียบเทียบมนุษย์เรา

สำหรับ “นิวซีแลนด์” เจ้าของฉายาแดน “กีวี” ประเทศในเขตแปซิฟิก คือ มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ จนถูกยกย่องให้ติดอยู่ใน “กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” ตลอดช่วงหลายสิบปี หรือหลายทศวรรษ ที่ผ่านมา

ถึงขนาดที่ประชาชนพลเมืองของประเทศอื่นๆ ย้ายอพยพเข้าไปพำนักอาศัยในนิวซีแลนด์ ซึ่งมีทั้งที่ถูกกฎหมาย และลักลอบเข้าเมือง เพื่อเข้าไปปักหลักทำมาหากิน ด้วยความหวังอันเรืองรองว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วแห่งนี้ จะช่วยชุบชีวิตใหม่ให้ดีกว่าเก่า จากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเดิมที่พวกเขาจากจรมา

นอกจากนี้ ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์คลื่นอพยพย้ายถิ่นฐานจากหลายๆ ประเทศ เข้าไปอยู่ในนิวซีแลนด์จนกลายเป็นกระแสนิยม จากผลพวงของวิกฤติโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปในพื้นที่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ประชากรของประเทศต่างๆ เหล่านั้น พากันอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปลงหลักปักฐานในนิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง “จาซินดา อาร์เดิร์น” จัดการกับปัญหาของการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 2.6 ล้านคน และผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพียง 5 พันกว่าคนเท่านั้น ไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ “ออสเตรเลีย” ที่อยู่ใกล้ชิดติดกันในภูมิภาคเดียวกันแล้ว ก็ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่า โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อถึงกว่า 11 ล้านคน ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่า 2.4 หมื่นคน

นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ ซึ่งรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดกระแสอพยพเข้าประเทศนิวซีแลนด์ (Photo : AFP)

ใช่แต่เท่านั้น ในยามวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงอาร์เดิร์น ก็ยังจัดการด้านเศรษฐกิจ ให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป จนทำให้นิวซีแลนด์ มีอัตราการขยายตัว เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564) ที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีหลายประเทศเศรษฐกิจถดถอย ถึงขั้นมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี “ติดลบ” กันไปเลยก็มี แต่สำหรับเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ ภายใต้การบริหารนายกฯ หญิงอาร์เดิร์น กลับทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ถึงร้อยละ 5.6 ในช่วงเวลาดังกล่าว

ทว่า มาในช่วงปีกว่าๆ มานี้ หลังจากที่นางอาร์เดิร์น ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป เมื่อปลายเดือนมกราคม 2023 (พ.ศ. 2566) แล้วให้นายคริส ฮิปกินส์ มารับไม้ต่อจนถึงปลายปีเดียวกันนั้น คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ก่อนที่นายคริสโตเฟอร์ ลุกซัน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ เพราะชนะเลือกตั้ง นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปลายปี 2023 ถึง ณ ปัจจุบัน ปรากฏว่า สถานการณ์ด้านต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ ดูจะเลวร้าย ดิ่งต่ำลงโดยลำดับ

ย่านธุรกิจแห่งหนึ่งในกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ซึ่งเคยคึกคัก แต่ปัจจุบันกลับประสบกับภาวะซบเซา (Photo : AFP)

ไล่ไปตั้งแต่เรื่อง “อัตราภาวะเงินเฟ้อ” ที่ประเทศนิวเซีแลนด์ พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันนับถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ตามเวลาที่กำหนดระยะเวลาแบ่งเป็น 6 เดือนแรก-หลัง หรือครึ่งปีแรก-ครึ่งปีหลัง ปรากฏว่า นิวซีแลนด์มีตัวเลขของอัตราภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2023 (พ.ศ. 2566) และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสแรกแบบปีต่อปี คือ สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2024 (พ.ศ. 2567) ที่เพิ่งผ่านพ้นมา กับสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2023 (พ.ศ. 2566) อัตราภาวะเงินเฟ้อของนิวซีแลนด์ ยังคงทะยานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 4.0

ทั้งนี้ ตัวเลขของอัตราภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ก็สะท้อนถึงราคาสินค้าในนิวซีแลนด์ว่า ยังคงอยู่ในสถานการณ์ “ข้าวของแพงขึ้น” ส่งผลกระทบการใช้จ่ายของประชาชน หรือเงินในกระเป๋าของพลเมือง ว่าต้องลดน้อยถอยลงไป เพราะต้องนำไปใช้จ่ายซื้อหาสินค้าด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้นกว่าเดิม

ปัญหาเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ตามมาอีกก็คือ “ปัญหาการว่างงาน” ที่ปรากฏว่า การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคนตกงานมากขึ้น อันสืบเนื่องมาจากผลการประกอบการที่ไม่ได้ตามเป้า รวมถึงการสร้างงานใหม่ ที่ลดน้อยลง โดยมีตัวเลขการว่างงานของพลเมืองในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นจาก 4.4 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับในสมัยของนายกรัฐมนตรีหญิงอาร์เดิร์น ก็ยังอยู่ที่เพียงร้อยละ3 – 3.3 เท่านั้น

ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์สูง โดยในช่วงรอบปีที่ผ่านมา คือ 2023 (พ.ศ. 2566) อัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการประกาศของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ก็อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของนิวซีแลนด์ เพิ่งจะลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 5.25 ในการประกาศครั้งล่าสุด เมื่อช่วงกลางสัปดาห์นี้นี่เอง

โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง ก็จะเป็นภาระของผู้เป็นลูกหนี้ธนาคาร รวมถึงการกู้ยืมเพื่อดำเนินกิจการของบรรดาธุรกิจห้างร้านต่างๆ ก็ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะต้องแบกรับต่อภาระหนี้สินต่างๆ ที่ไปกู้ยืมธนาคารด้วย

นอกจากนี้ ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในนิวซีแลนด์ ในช่วงยุคนี้ พ.ศ.นี้ ก็เป็นอย่างซบเซา ไม่คึกคัก เมื่ออย่างในช่วงหลายทศวรรษก่อน ที่ผู้คนจากหลายประเทศทั่วโลก อยากจะอพยพเข้ามา เพื่อทำงาน หรือประกอบกิจการต่างๆ เพื่อสร้างฐานะ สร้างตัว

ด้วยประการฉะนี้ ก็ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ผู้คนอพยพออกนอกนิวซีแลนด์กันจนกลายเป็นกระแสครั้งใหม่

ตามตัวเลขที่ปรากฏในสำนักงานสถิติแห่งชาตินิวซีแลนด์ ระบุว่า ในรอบปีที่ผ่านมา คือ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 (พ.ศ. 2566) ถึงเดือนมิถุนายน 2024 (พ.ศ. 2567) มีผู้คนย้ายออกจากนิวซีแลนด์ไปแล้วถึง 131,200 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยตัวเลขข้างต้น ก็มากกว่าในช่วงที่โควิด – 19 อาละวาดถึงเกือบเท่าตัว คือ ในช่วงเวลานั้นมีผู้คนย้ายออกนอกนิวซีแลนด์ไปเพียง 80,174 คน ทั้งนี้ เป็นผลจากการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีหญิงอาร์เดิร์นตามที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง

ส่วนประเทศที่ชาวนิวซีแลนด์อพยพออกไปลงหลักปักฐานกันใหม่นั้น ก็ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ และอื่นๆ โดยออสเตรเลีย ถือว่ามากที่สุด เพราะคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของจำนวน 131,200 คน ที่ย้ายถิ่นฐานออกไปสร้างชีวิตกันใหม่