"ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเสียงข้างมาก 5-4 "เศรษฐา" สิ้นสุดการเป็น”นายกฯ” คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ด้าน"เศรษฐา" เข้าวัดทำบุญเป็นสิริมงคล ก่อนศาลรธน.มีมติชี้ชะตาบอกเมื่อคืนหลับ ขณะที่“แสวง”ระบุ'พรรคถิ่นกาขาวฯ'สาขาพรรคไม่ครบ ยังมีสภาพเป็นพรรคเปิดรับบริจาคออนไลน์ตามข้อบังคับได้ เตือนหากผู้บริจาคไม่เป็นไปตามกฎหมายมีลักษณะต้องห้ามเสี่ยงถูกยุบพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณี 40 อดีต สว. ส่งคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือไม่ โดยเมื่อเวลา 08.30 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางไปทำบุญที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ให้กับ นางชดช้อย ทวีสิน มารดา
จากนั้น 09.20 น. นายเศรษฐา เดินทางเข้าปฎิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้จอดรถลงมาทักทายสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่มารอทำข่าวจำนวนมากอย่างอารมณ์ดี พร้อมทักทันทีว่า “โอ้โห ทำไมวันนี้มากันเยอะจัง” ผู้สื่อข่าวตอบว่า เป็นวันสำคัญ ทุกคนจึงให้ความสนใจ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อคืนนี้นอนหลับสบายดีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “สบายครับ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเช้าที่ไปแวะทำบุญมีอะไรพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เช้าวันเดียวกันนี้ได้เดินทางไปวัดเทพศิรินทราวาสฯ ซึ่งเป็นวัดที่ทำพิธีฌาปนกิจศพของคุณแม่ ซึ่งท่านเจ้าคุณ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือมาตลอดก็ไปกราบขอบพระคุณท่านแค่นั้นเอง เมื่อถามว่า ท่านเจ้าคุณได้ให้กำลังใจอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวติดตลกว่า “ไม่มีอะไร ท่านชวนคุยเรื่องฟุตบอลเฉยๆ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า จนถึงวันนี้นายกฯ ไม่ได้กังวลอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า "กังวลทุกเรื่องครับ กังวลตลอดเวลา แต่มันไม่ได้อยู่ในมือผมแล้ว ก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ผมเรียน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯจะเดินหน้าทำงานต่อไปตามปกติใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้ทำงานตามปกติ มีงานโดยเวลา 12.00 น.จะไปตรวจเยี่ยมตลาดใต้สะพานเพลินจิต เพราะอยากทำที่ใต้ทางด่วน ซึ่งมีพื้นที่เหลือเยอะมาก ก็ได้เชิญผู้การการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม มาพูดคุยว่าใต้ทางด่วนยังมีพื้นที่ที่เราสามารถจัดเป็นพื้นที่สันทนาการให้กับพี่น้องประชาชนได้ หรือนำมาหารายได้ให้กับประชาชนที่ต้องการมาเปิดร้านค้าในราคาค่าเช่าที่เหมาะสม ให้เป็นการเสริมอาชีพเสริมรายได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการทางพิเศษฯ ได้เริ่มพูดคุยกันและเชิญตนไปดู ตนมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ดีจะได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและการทางพิเศษฯได้ดำเนินการอีกในหลายๆพื้นที่ เมื่อถามว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย นายกฯจะมีโอกาสได้มาพูดคุยกับสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ได้ครับ ยินดีครับ แต่ไม่ใช่เป็นการแถลงข่าว เป็นการให้สัมภาษณ์ธรรมดา”
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อเวลา 09.30 น. ก่อนอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น. ซึ่งวันนี้นายกฯ ไม่ได้เดินทางมารับฟังด้วยตนเอง โดยส่ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาแทน ขณะที่ 40 อดีต สว. ที่เข้าชื่อยื่นถอดถอนนายกฯ ในคดีนี้ ได้มี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายสมชาย แสดงการ เป็นตัวแทนมารับฟังคำวินิจฉัย คาดว่าจะเดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 13.30 น.
โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนใช้ทางเข้า - ออก อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) โดยผ่านจุดคัดกรองบริเวณประตู 4 ชั้น 2 เท่านั้น โดยทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจรายชื่อสื่อมวลชนที่จะเข้ามาทำข่าว และก่อนหน้านี้ได้ลงทะเบียนกับศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะผ่านขั้นตอนการคัดกรองของอาคาร โดยได้มอบหมายให้ นายชลอ อินน้อย ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร เป็นผู้ประสานงาน สำหรับการเข้ามาทำข่าว รับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาล ขณะที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บริเวณลานหน้าเสาธง ได้มีการจัดเตรียมเป็นสถานที่รองรับสำหรับประชาชนที่จะมารับฟังการอ่านคำวินิจฉัย มีการติดตั้งจอโทรทัศน์ถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยจากห้องพิจารณาคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณี 40 อดีต สว. ส่งคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ว่า คำร้องที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดเดิม 40 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่านายเศรษฐารับทราบว่านายพิชิตถูกดำเนินคดี และมีข้อสงสัยว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ดังจะเห็นว่าในวันที่ 29 ส.ค.66 จึงให้หารือโดยเร็ว รับฟังได้ว่ารู้และควรรู้เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิตว่าอาจมีลักษณะต้องห้ามจริง ก่อนพิจารณาแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เมื่อข้อเท็จจริงว่ารู้ แต่กลับเสนอชื่อให้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นกรณีการขาดความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรีหรือไม่ เห็นว่าการเสนอชื่อดังกล่าว ไม่เหมาะสม แม้กฤษฎีกาจะให้ความเห็นทางกฎหมาย แต่ก็เป็นแค่คำเสนอ นายกฯก็ต้องใช้วิจารณญาณที่เหมาะสมได้ การอ้างว่าทำธุรกิจมาก่อนจึงอ้างไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์ซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักทั่วไป เป็นเรื่องสำคัญ การที่ไม่ได้ฟ้องคดีอาญา
การแต่งตั้งนายพิชิตทั้งที่เคยถอดชื่อไปก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่านายเศรษฐาไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ รู้เห็นให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้อำนาจหน้าที่นายกฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ขัดกันประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เสียเกียรติศักดิ์นายกรัฐมนตรี เป็นการสมคบ สมาคมผู้มีชื่อเสียงเสื่อมเสียง กระทบศรัทธา มาตรฐานจริยธรรมศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ 2561 ข้อ 7 – 8 -11-17-19 ที่ให้ใช้กับครม.ดัวย เป็นอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าสมควรดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่านายเศรษฐารู้พฤติกรรมของนายพิชิต แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้เป็นรมต.ประจำสำนักฯ แสดงว่านายเศรษฐาไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ตุลาการเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีมีการยื่นให้ กกต. ตรวจสอบการตั้งสาขาพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชน ในอดีตมีการจัดตั้งครบ 4 สาขาในแต่ละภาคเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปีจริงหรือไม่ ว่า ตามกฎหมายแล้วความเป็นพรรคการเมืองมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ 1.ความเป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นทันทีในวันที่จดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่ง ณ เวลานั้นพรรคอาจยังไม่มีสาขาพรรค มีสมาชิกไม่ครบ แต่พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ทันที รวมถึงสามารถรับบริจาคได้ โดยพรรคจะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขาภายในกำหนดเวลา 1 ปี
2.พรรคที่มีความสมบูรณ์ คือมีสมาชิก มีสาขาพรรคครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดภายในระยะเวลา 1 ปี 3.พรรคที่ดำเนินกิจการไปแล้วอยู่ๆ สาขาพรรคหาย จากหลายสาเหตุเช่นสมาชิกไม่ครบก็ขอยกเลิกสาขาพรรค แต่กฎหมายให้เวลาจัดตั้งสาขาพรรคในส่วนที่ขาดให้ครบ 4 ภาคภายใน 1 ปี
"กรณีของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองขอยกเลิกสาขาพรรค 3 แห่ง เหลือเพียงสาขาภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อกฎหมายให้เวลาจัดตั้งสาขาให้ครบภายใน 1 ปี คือภายในวันที่ 3 เม.ย.68 ดังนั้นความเป็นพรรคการเมืองยังคงอยู่"
นายแสวง กล่าวต่อว่า เมื่อพรรคก้าวไกลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคและสมาชิกย้ายมาอยู่พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน ไม่ว่าพรรคจะมีสาขาพรรคครบหรือไม่ ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยผู้บริหารพรรคชุดใหม่ที่เข้ามาก็ต้องมาจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบตามเงื่อนไขภายใน 1 ปี ที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาพรรคก็มีการแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคเพิ่มเติมมายังนายทะเบียนฯแล้ว
นายแสวง กล่าวว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมการดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งนายทะเบียนฯจะรู้อยู่ตลอดเวลาว่าพรรคไหนมีการเพิ่มลดสมาชิก มีการจัดระดมทุน สาขาพรรคขาด ซึ่งก็จะมีการแจ้งเตือนก่อนครบกำหนดเวลา จึงไม่ต้องมาตรวจสอบย้อนหลังอะไร
สำหรับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคประชาชนยังไม่มีบัญชีธนาคารของพรรค ผู้รับเงินไม่ใช่พรรคและรับบริจาคโดยวิธีออนไลน์ ผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน กฎหมายกำหนดว่าเมื่อพรรคการเมืองรับบริจาคต้องรายงานนายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน 15 วัน ในส่วนบัญชีธนาคารของพรรคการเมือง ธนาคารจะไม่ออกเล่มบัญชีให้จนกว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่จะประสบปัญหานี้ไม่สามารถนำเงินที่เป็นทุนประเดิมจัดตั้งพรรคเข้าบัญชีได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาชน เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล จึงมีบัญชีธนาคารของพรรคเดิมอยู่แล้ว ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่าเขารับบริจาคผ่านเข้าบัญชีนี้หรือไม่ หรือเงินบริจาคเข้าบัญชีชื่ออื่นเพราะอะไร
นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า วิธีการรับบริจาคกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ ต้องดูว่าข้อบังคับพรรคเขียนอย่างไร ถ้าเขียนว่ารับบริจาคออนไลน์ได้ ก็ทำได้ แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เมื่อได้รับบริจาคไม่น้อยกว่า 5,000 บาท จะต้องมีการออกใบเสร็จให้กับผู้บริจาคภายใน 7 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด และแต่ละเดือนต้องติดประกาศรายชื่อผู้บริจาคให้ประชาชนทราบ รวมถึงแจ้งนายทะเบียนทราบด้วย ที่สำคัญการรับบริจาคไม่ว่าจะรับเงินสดหรือออนไลน์ เงินจำนวนมากหรือน้อย พรรคต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้บริจาคด้วยว่าเป็นบุคคลที่กฎหมายห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคหรือไม่ เพราะตรงนี้มีโทษถึงขั้นยุบพรรค
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการคัดค้านไม่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบรับการเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองไว้ชัดเจนอยู่แล้ว นายทะเบียนฯก็ต้องพิจารณาอยู่บนหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะใช้ความรู้สึกมาพิจารณาไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ทางพรรคก็ยังไม่ได้ส่งเรื่องดังกล่าวมา
วันเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อมาร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบไต่สวนการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ของบริษัทค่ายเพลงชื่อดัง Warner Music Thailand และศิลปินนักร้องเพื่อชีวิต ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว
นายสนธิญา กล่าวว่า ตนในฐานะประชาชนคนไทยและมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้น อาจไปกระทบกับสถาบันตุลาการ ที่ตัดสิน เสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการชี้นำสังคมให้เกิดความสับสนและแตกแยก