ชาวบ้านพิบูลย์บางซื่อ ซัดข้ออ้างสนง.ขนส่งผู้โดยสารฟังไม่ขึ้น วอนหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนก่อนเกิดการสูญเสียจากการย้ายป้ายรถประจำทาง ที่มีมากว่า 70 ปี ไม่เคยถูกย้ายไปไหน แฉอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเจ้าของที่ดินอยู่หลังศาลาที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่
เมื่อวันที่ 13 ส.ค.67 นางกรองรัตน์ เกื้อกิจ อายุ 62 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมการขนส่งทางบก โดย นายปืยะ โยมา ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งผู้โดยสาร ระบุพื้นที่ตั้งป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ เดิม ไม่ใช่จุดที่คณะอนุกรรมการฯพิจารณาอนุมัติ โดยจุดที่อนุมัติเป็นพื้นที่บริเวณหน้าสะพานลอยตรงที่ย้ายมาใหม่ ว่า gป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้อง การย้ายป้ายรถโดยสารและศาลาที่พักผู้โดยสาร เป็นการย้ายโดยขาดหลักความชอบธรรม ไม่ได้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อน แต่เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเพิ่งมาซื้อที่ดินด้านหลังศาลาฯ เมื่อไม่นานมานี้ในขณะที่ ป้ายรถโดยสาร มีมานานมากกว่า 60 ปี และตั้งในจุดที่ประชาชนขอให้ย้ายกลับมาที่เดิมโดยไม่เคยมีการย้ายไปที่อื่นแม้แต่ครั้งเดียว และมีผู้ใช้ป้ายหยุดรถประจำทางคือชุมชนตรอกกิโลสาม ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่และชุมชนซอยวัดมัชฌันติการามบางส่วน จนกระทั่งมีการสร้างหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ ขึ้นมาในปี 2535 ก็ใช้ป้ายหยุดรถในบริเวณที่ตั้งเดิม ที่ถูกลื้อย้ายออกไปมาโดยตลอด
นางกรองรัตน์ กล่าวว่า การกล่าวอ้างของนายปิยะจึงไม่ถูกต้อง การอ้างมติคณะอนุกรรมการ ตั้งแต่ปี 2525 ในการปักป้ายที่บอกว่าผิดตำแหน่งนั้น ป้ายรถโดยสารประจำทาง มีมาตั้งแต่ถนน 2 เลน จนปัจจุบันเป็นถนน 6 เลน ป้ายก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่ได้ย้ายไปไหน จนมีการสร้างสะพานลอยคนข้ามถนน ป้ายก็ยังคงอยู่ที่เดิม และหากดูจากหลักวิศวกรรมโยธาแล้ว บนถนนพิบูลสงคราม ถนนจรัญสนิทวงศ์ หรือถนนประชาราษฎร์ สาย1 จะเห็นได้ว่าบันไดขึ้นลงสะพานลอย จะหันลงมายังป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และศาลารอรถประจำทาง เว้นแต่จะมีสิ่งกีดขวางเช่นเสาไฟฟ้า ซึ่งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง หน้าหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ ก็เป็นเช่นเดียวกันบันไดขึ้นลงสะพานลอย ก็หันมายังป้ายหยุดรถโดยสารและศาลารอรถโดยสาร
ขณะที่ปัจจุบัน ป้ายรถโดยสารประจำทางกลับถูกย้ายไปอยู่หน้าตอหม้อสะพานลอย และอยู่หลังทางขึ้นลงสะพานลอย ซึ่งมันผิดหลักวิศวกรรมโยธาอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งที่กล่าวว่าประชาชนไม่สะดวก มันเป็นแค่เหตุผลรองเท่านั้น แต่เหตุผลหลักคือความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดอับสายตา เสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม ซึ่งชาวหมู่บ้านพิบูลย์บางซื่อ และชุมชนข้างเคียง เป็นกังวลในเรื่องนี้มากกว่า การกล่าวอ้างว่าจุดเดิมผิดมติ แล้วเหตุใดจึงปล่อยประละเลยมามากกว่า 42 ปี แต่พอมีเจ้าของที่ดินใหม่มา กลับมีการย้ายป้ายและศาลารอรถฯ ออกไปโดยอ้างว่าทำตามมติ เมื่อปี 2525 ทั้งๆ ที่ป้ายรอรถอยู่มาก่อนปี 2525 และอยู่มาโดยตลอด อีกทั้งไม่มีการสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือไม่มีแม้กระทั่งการแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจะมีการย้าย และเมื่อประชาชนเห็นว่าป้ายและศาลาฯ ถูกย้ายไป
“ประชาชนได้ลงชื่อคัดค้านตั้งแต่แรก และในมติคณะอนุกรรมการ ครั้งที่1/2567 สรุปให้เขตบางซื่อเข้ามาทำประชาพิจารณ์ ซึ่งผลของการทำประชาพิจารณ์ก็มีผู้คัดค้านการย้ายป้ายและศาลาฯ มากขึ้นกว่าเดิมเป็น 293 เสียง ที่ให้ย้ายป้ายและศาลาฯ กลับที่เดิม ยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ อีกหรือ เหตุใดจึงต้องหาทางออกร่วมกัน”
ด้าน นางชนัญชิดา นุชเสริมหาญ อายุ 39 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการฯ ชุดปัจจุบันบรรจุเข้าวาระการประชุมเพื่อพิจารณาผลของการย้ายป้ายรถเมล์ โดยต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของประชาชนและผลประชาพิจารณ์ร่วมด้วย ไม่ใช่แค่เพียงทำให้ถูกต้องตามคำกล่าวอ้างของชุดคณะอนุกรรมการฯเมื่อ 42 ปีที่แล้ว โดยไม่ได้พิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงในปี2567 และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นาวาเอกยงยุทธ เกื้อกิจ ที่ปรึกษาหมู่บ้านฯ กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้เห็นว่ากรมการขนส่งทางบกควรตัดสินใจภายใต้ข้อมูลและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก หาใช่เจ้าของที่ดินเพียงผู้เดียว และในเรื่องนี้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นการย้ายโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ และขณะนี้กรมการขนส่งได้สร้างความเดือดร้อน และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ท่านยังไม่พร้อมในการแก้ไขอีกหรือ
"จะรอให้เกิดความสูญเสียของประชาชนก่อนหรือครับ ตามที่ท่านบอกว่าเป็นการยึดหลักของสาธารณะประโยชน์และไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นนั้น การย้ายป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารไปที่แห่งใหม่ ใครได้ประโยชน์กันแน่ครับแต่ที่เห็นๆ คือประชาชนเดือดร้อนและเสียประโยชน์นะครับ"นาวาเอก ยงยุทธ กล่าว