"เศรษฐา" อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส่ บอกสื่อมอบ "เลขาฯนายกฯ" ไปฟังคำวินิจฉัยศาลรธน.วันนี้ อ้างภารกิจแน่น "วิษณุ" เผยหาก "เศรษฐา" หลุดเก้าอี้นายกฯ ยังนั่งรักษาการได้ อาจคืนชีพกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ส.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปพักผ่อนแล้วดีขึ้นหรือไม่ นายกฯ ยิ้ม พร้อมตอบว่า “โอเคครับ” ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ในวันที่ 14 ส.ค. จะไปฟังการวินิจฉัยของศาลด้วยตัวเองหรือไม่ นายกฯ กล่าวปฏิเสธว่า “ไม่ไปครับ มอบให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ไป”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 14 ส.ค. นายกฯ มีภารกิจใดบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า เยอะแยะเลย แต่ไม่แน่ใจจำตารางงานไม่ได้ แต่รู้ว่าตารางแน่นเอี้ยดเหมือนกัน แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ เมื่อถามว่า จะไม่มีเดินทางไปภารกิจนอกทำเนียบรัฐบาลใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “จำตารางไม่ได้จริงๆ ครับ”
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ กล่าวถึงคำแถลงปิดสำนวนของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จะสามารถหักล้างข้อต่อสู้ของกลุ่ม 40 สว. ที่ยื่นถอดถอนนายกฯ ได้หรือไม่ ว่า อย่าตอบเลย เพราะอีก 24 ชั่วโมง ก็จะตัดสินอยู่แล้ว ตนจึงไม่อยากวิจารณ์อะไรตอนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายกฯถูกศาลธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ขั้นตอนหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากไม่รอด นายกฯ ก็จะถูกถอดถอนและพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงคณะรัฐมนตรีก็จะสิ้นสุดลง แต่นายกฯก็สามารถรักษาการไว้ได้ จนกว่านายกฯคนใหม่จะนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรเป็นสัปดาห์ แต่ระหว่างนี้นายเศรษฐาก็ยังสามารถทำหน้าที่นายกฯ รักษาการ และปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่นายกฯ ก็สามารถมอบรักษาการนายกฯ ให้รองนายกฯ ตามลำดับได้
“นายกฯ สามารถรักษาการได้ รัฐธรรมนูญบอกไว้ กรณีที่นายกฯจะทำหน้าที่ไม่ได้ มีอะไรบ้าง ซึ่งกรณีนายกฯเศรษฐา ไม่เข้าข้อยกเว้น”
เมื่อถามอีกว่า หากนายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่ง และยังมีชื่อเป็นแคนดิเดตก็สามารถกลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเห็นว่าได้ แต่ก็ยังไม่ถูกตัดสินจึงยังตอบไม่ได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าคำวินิจฉัยเขียนว่าอย่างไร ซึ่งจะมีช่องให้เห็นอยู่ ถ้าหากไม่มีช่องอะไรอยู่ก็เป็นไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่า หากศาลตัดสินให้นายกฯพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่มีอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็สามารถกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ครับ แต่ต้องฟังคำวินิจฉัย นายกฯพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุตามมาตราใด”
เมื่อถามว่า อำนาจของรักษาการนายกฯ สามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง รวมถึงยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดทุกยุคทุกสมัยแล้ว ซึ่งตนเห็นว่าสามารถสั่งยุบสภาได้ และระหว่างในรักษาการก็ถือว่ามีอำนาจเต็ม
“หากนายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ขั้นตอนต่อไปการเลือกนายกฯ ก็ต้องใช้รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่อยู่ในบัญชี และต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุนของพรรคนั้นเกิน 25 เสียง ขณะที่กระบวนการเลือกนายกฯคนนอก หมดไปแล้วพร้อมกับอำนาจที่ สว.สามารถเลือกนายกฯได้ ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 272”
เมื่อถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถหาแคนดิเดตนายกฯได้ ก็จะต้องตกเป็นของพรรคอื่นใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า พรรคไหนต้องไปตกลงเอาเองแล้วกัน จะเอาที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็แล้วแต่ โดยขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก
นายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมการรับมือในวันที่ 14 ส.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกฯหรือไม่ ว่า การประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ แจ้งต่อที่ประชุมถึงคำพูดของนายกฯว่าให้เป็นไปตามกระบวนการ ส่วนตัวนายกฯเองไม่ได้หนักใจ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เตรียมการอะไร ขอให้เกิดขึ้นก่อนจะดีกว่า ตนซึ่งอยู่ในพรรคเพื่อไทยซึ่งนายกฯสังกัดอยู่ด้วยก็มั่นใจในความบริสุทธิ์ของนายกฯเช่นกัน
ด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงในวันที่ 14 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีนายเศรษฐา ว่า ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้ ต้องให้เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ควรที่จะให้ความเห็นหลังมีคำวินิจฉัยจะดีกว่า เมื่อถามว่า การประเมินสถานการณ์หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองนั้น นายชัยชนะ กล่าวว่า คงไม่ต้องประเมินเพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ เมื่อถามย้ำว่า หากมีเทียบเชิญให้ร่วมรัฐบาลจะพิจารณาอย่างไร นายชัยชนะ กล่าวว่า ก็ต้องกลับไปถามมติของพรรคประชาธิปัตย์ โดยกรรมการบริหารพรรคต้องประชุมร่วมกันกับ ส.ส. จะแสดงความคิดเห็นคนใดคนหนึ่งไม่ได้
“อย่าใช้คำว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะร่วมรัฐบาล เพราะการเมืองไทยต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงตอบไม่ได้ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมหากมีการเทียบเชิญเพราะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์”
นายชัยชนะ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เร่งดำเนินคดีทางอาญากับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่า เรื่องนี้ต้องถามกับนายมงคลกิตติ์เอง เพราะเรื่องนี้ต้องแบ่งออกเป็น 2 มุม คือความเห็นส่วนตัวกับความเห็นของพรรค หากเป็นความเห็นของพรรคต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ แต่หากเป็นการเรื่องส่วนตัวก็เป็นสิทธิ์ที่พึงกระทำได้
เมื่อถามว่า จะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหายหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิที่ทุกคนจะร้องเรียนในฐานะประชาชน ซึ่งพรรคคงไม่ห้ามให้ใครไปยื่นในนามส่วนตัว ยืนยันว่าส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพรรคประชาชน และขอแสดงความยินดีกับหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมเป็นกำลังใจให้เดินหน้าในการทำงานกอบกู้ระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่จุดยืนที่ต่างกันคือพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 112 เพราะพรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์