“กรมขนส่งฯ” แจง “ป้ายหยุดโดยสารหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ” ใหม่ เป็นไปตามมติอนุกรรมฯเดิม ขณะที่ป้ายเดิมผิดมติอนุมัติ แต่ทำให้ประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวก แนะให้ผู้เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกัน ยึดหลักสาธารณะประโยชน์ กรมขนส่งฯ พร้อมปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.67 นายปิยะ โยมา ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก เผยถึงกรณีที่ชาวบ้านพิบูลย์ บางซื่อ ถนนพิบูลย์สงคราม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร แจ้งร้องทุกข์ผ่านสำนักจราจรขนส่งว่าได้รับความเดือดร้อนจากการย้ายป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้าหมู่บ้านพิบูลย์ บางซื่อ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ว่า การร้องเรียนเรื่องนี้ กรมการขนส่งทางบกได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนที่แจ้งมายังกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ตั้งป้ายรถประจำทางเดิมนั้น เดิมในตอนที่อนุมัติเวลานั้น ไม่ใช่จุดที่คณะอนุกรรมการพิจารณาปักป้ายรถโดยสารประจำทาง อาทิ กรุงเทพมหานคร ,สำนักงานเขต ,กรมการขนส่งทางบก ,สถานีตำรวจในพื้นที่ และตัวแทนประชาชนในพื้นที่อนุมัติ เพราะจุดที่อนุมัติเป็นจุดที่อยู่ตรงบริเวณหน้าสะพานลอยตรงบริเวณดังกล่าว ซึ่งในช่วงนั้นพื้นที่เป็นพื้นที่โล่ง สามารถทำป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางได้ ต่อมาประชาชนในพื้นที่ได้ขอให้มีการปรับย้ายมาใกล้บริเวณหน้าหมู่บ้านแทน เพื่อสะดวกในการเดินทาง กรมการขนส่งทางบกจึงได้ย้ายมาให้เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน
ต่อมาได้มีเจ้าของพื้นที่ที่มีป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน ร้องเรียนเข้ามายังกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้เคลื่อนย้ายป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางออกจากบริเวณหน้าพื้นที่ ซึ่งกรมขนส่งทางบกได้นำเรื่องร้องเรียนเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ โดยคณะอนุกรรมฯ เห็นว่าป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นไปตามคณะอนุกรรมการฯ ในเวลานั้นอนุมัติ อีกทั้งจุดป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางที่ย้ายนั้นห่างจากจุดเดิมเพียง 30 เมตร จึงได้ให้ย้ายกลับไปที่จุดเดิมเพื่อความถูกต้อง และไม่ผิดต่อคำสั่งที่คณะอนุกรรมการฯ อนุมัติในเวลานั้น
นายปิยะ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางที่เกิดขึ้นในเวลานี้ สามารถทำได้เช่นกัน โดยให้ทางสำนักงานจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ,สำนักงานเขตพื้นที่ ,สถานีตำรวจในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่ ประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป โดยยึดหลักของการใช้สาธารณะประโยชน์ร่วมกัน และไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น แล้วแจ้งมายังกรมการขนส่งทางบก เพื่อทราบถึงข้อสรุปและดำเนินการตามข้อสรุปนั้นต่อไป
“ต้องยอมรับว่าป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางเดิมนั้น ไม่ได้เป็นไปตามมติอนุกรรมการฯ ที่อนุมัติ ซึ่งผิดระเบียบ แต่กรมการขนส่งทางบกเห็นว่ามีประชาชนอยากให้ย้ายมาใกล้หมู่บ้านก็ย้ายให้ แต่เมื่อมีการร้องเรียนจากเจ้าของพื้นที่ในเวลานี้ ก็จำเป็นต้องย้ายกลับไปจุดเดิมที่อนุกรรมการฯอนุมัติ เพื่อความถูกต้อง และไม่ผิดต่อระเบียนการอนุมัติ แต่ถึงอย่างไรการแก้ปัญหาเรื่องนี้สามารถทำได้ โดยการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยยึดหลักของการใช้สาธารณะประโยชน์ และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น กรมการขนส่งทางบกก็พร้อมที่จะดำเนินการ”