ครบ 10 เดือนเต็มเข้าไปแล้ว สำหรับ “สงครามกาซา” ที่ “กองทัพอิสราเอล” หรือชื่อเป็นทางการ “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” หรือ “ไอดีเอฟ” (IDF : Israel Defense Forces) รบกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ของปาเลสไตน์ เช่น กองพลน้อยอัล-อักซาม เป็นต้น
ภายหลังจากกองทัพอิสราเอล โรมรันพันตูกับเหล่าบรรดากลุ่มติดอาวุธต่างๆ ของปาเลสไตน์ นับตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธของปาเลสไตน์ข้างต้น ลอบบุกจากฉนวนกาซา ข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีอิสราเอล จำนวนทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมแล้วนับพันคน พร้อมกับจับผู้คนจากทางฝั่งอิสราเอลอีกจำนวนกว่า 250 คนไปเป็นตัวประกันกลับเข้าไปยังฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา
ส่งผลให้ทางการอิสราเอล ระดมกำลังทัพจากไอดีเอฟเข้าถล่มฉนวนกาซา เพื่อโจมตีตอบโต้ด้วยสารพัดยุทธวิธี
เริ่มจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ หรือยุทธเวหา ด้วยจรวดขีปนาวุธ โดรนติดอาวุธ รวมไปถึงเครื่องบินทิ้งระเบิด โจมตีพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธของปาเลสไตน์ จนฝ่ายตรงข้ามเสียหายจนได้ที่แล้ว ทางกองทัพอิสราเอล ก็ระดมกำลังทหาร บุกโจมตีภาคพื้นดินต่อไป
โดยปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในการทำสงครามกาซาหนนี้ ก็เริ่มไล่มาตั้งแต่พื้นที่ตอนเหนือ และตอนกลาง ลงมาจนถึงตอนใต้ของฉนวนกาซา ตามลำดับ เพื่อหวังทำลายกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮามาสให้สิ้นซาก
ทว่า ในปฏิบัติการสงครามกาซาข้างต้น นอกจากอิสราเอลต้องรุกรบกับกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ แล้ว ก็ยังต้องมีสมรภูมิรบกับกระแสการประท้วงไปแทบจะทั่วทุกภูมิภาคโลก ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เป็นอาทิ โดยอิสราเอลได้รับเสียงตำหนิวิจารณ์จากการที่กองทัพของพวกเขาเข่นฆ่า และทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ฉนวนกาซา ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการที่กองทัพอิสราเอล ปฏิบัติการโจมตีทั้งทางอากาศ และรุกรบภาคพื้นดิน ไปตลอดทั้งแนวตั้งแต่เหนือจรดใต้ของฉนวนกาซาตามที่กล่าวข้างต้น
ตามการประเมินของหลายหน่วยงานก็ระบุว่า มีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ต้องสังเวยชีวิตจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล ทั้งการโจมตีทางอากาศ และบุกถล่มภาคพื้นดินในสงครามครั้งนี้ไปไม่น้อยกว่า 39,550 คนด้วยกัน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจจะมากกว่าที่รายงานข้างต้น
ส่วนผู้สูญหายอยู่ที่ระหว่าง 6,000 ถึงกว่า 20,000 คน ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวน 91,280 คน นอกจากนี้ ยังมีชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจับกุมคุมขังไปจำนวนมากกว่า 9,312 คน ใช่แต่เท่านั้น ผลของสงครามยังทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนกว่า 1,900,000 คน ต้องตกอยู่ในสภาพผู้อพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านช่อง จากการที่ต้องหนีภัยการสู้รบ และการโหมกระหน่ำโจมตีจากกองทัพอิสราเอล ตลอดช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากสงครามในฉนวนกาซา ที่อิสราเอลสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ตลอดจนทำสงครามกับกระแสประท้วงดังกล่าวแล้ว อิสราเอลก็ยังมีปะทะกับกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศเลบานอนอีกด้วย
โดยการปะทะกันระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์นั้น ก็มีขึ้นในทางภาคเหนือของอิสราเอล ซึ่งมีพรมแดนติดกับภาคใต้ของเลบานอน เบื้องต้นก็จะเป็นการใช้อาวุธยาว คือ ปืนใหญ่ และจรวดขีปนาวุธ ยิงตอบโต้กันไปมา นับตั้งแต่เกิดสงครามฉนวนกาซาใหม่ๆ หรือเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา
ทั้งนี้ การที่กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือต่อกลุ่มฮามาส ในฐานะที่เป็นกลุ่มติดอาวุธพันธมิตรด้วยกัน และเพื่อตอบโต้ที่กองทัพอิสราเอลโจมตีสังหารประชาชนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
ล่าสุด การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์ เมื่อช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา ปรากฏว่า กองทัพอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยมีเป้าหมายเป็นฐานที่มั่นต่างๆ ของกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์ ในกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน
เรียกว่า เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ขยายวงจากภาคใต้ของเลบานอน ขึ้นมาถึงเมืองหลวงของเลบานอน ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ โดยผลของปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว ทำให้ “สภาซูรอ” ของกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์ได้รับความเสียหาย พร้อมๆ กันนั้น ก็ยังปลิดชีพ “นายฟูอัด ชูเคอร์” หนึ่งในผู้บัญชาการของกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์อีกต่างหากด้วย
เหตุผลของปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว ก็เพื่อแก้แค้นที่กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์ ยิงจรวดขีปนาวุธ ซึ่งถูกระบุว่า ผลิตจากอิหร่าน โจมตีสนามฟุตบอลเด็กเล่นแห่งหนึ่งบนที่ราบสูงโกลัน จนมีเด็กๆ ชาวอิสราเอลเสียชีวิต 12 คน แต่ทางกลุ่มติดอาวุธเฮซบอลเลาะฮ์ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ใช่ฝีมือของพวกเขา
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ปรากฏว่า ได้มี “จรวดพิสัยใกล้” ปริศนา บรรทุกหัวระเบิดหนัก 7 กิโลกรัม ยิงถล่มสังหารนายอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส จนเสียชีวิตพร้อมบอดีการ์ด ในบ้านพักของเขา ขณะเตรียมที่จะเข้าร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน โดยการสังหารข้างต้น ก็มีขึ้นในใจกลางกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เหตุสังหารดังกล่าว บางกระแสก็ระบุว่า นายฮานิเยห์ เสียชีวิตเพราะระเบิดที่ซุกซ่อนในบ้านที่เขาพักอยู่นั้นตูมตามระเบิดขึ้น
เบื้องต้นก็กล่าวโทษว่า เป็นฝีมือของอิสราเอล แต่ทางอิสราเอล ก็ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธ
ทว่า ทั้งสองเหตุสังหารแกนนำของเฮซบอลเลาะฮ์และฮามาสข้างต้น ก็คาดการณ์กันว่า อิสราเอลอาจจะต้องเผชิญกับการสางแค้นจากอิหร่านอย่างเป็นแน่ เพราะทั้งเฮซบอลเลาะฮและฮามาสล้วนเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรและได้รับความสนับสนุนจากอิหร่าน ทำให้หวั่นเกรงจากหลายฝ่ายว่า สงครามการสู้รบอาจจะขยายวงมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ที่ดำเนินเปิดศึกกับอิสราเอลไปแล้วก่อนหน้า ตั้งแต่สงครามกาซาปะทุขึ้นใหม่ๆ เช่นกัน โดยปฏิบัติการของกลุ่มกบฏฮูตีนั้น นอกจากเรื่องความรุนแรงจากการสู้รบแล้ว ก็ยังมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของหลายประเทศอีกด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าออกทางเรือจนเดือดร้อนไปตามๆ กันมาแล้ว