วันที่ 5 ส.ค.67 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) นายสุทิน คลัง แสง รมว.กลาโหม หารือกับพล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและ พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 รวมถึงพล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก กรณีการลงโทษ กำลังพลด้วยวิธีการจับแก้ผ้า ที่ฐานปฏิบัติการนอแล จังหวัดเชียงใหม่ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด และใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง
จากนั้น นายสุทิน ลงมาแถลงข่าว ว่า เหตุการณ์นี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้รายงานเป็นเอกสารมาให้ตนทราบเรื่องแล้ว เพียงแต่วันนี้ตนอยากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งผลการสอบสวนพบ ว่า เกิดขึ้นจริง 2 ครั้ง ในเดือนมี.ค.และเดือนส.ค.ซึ่งทั้ง 2 กรณีทางกองทัพบกได้สอบสวนและลงโทษไปแล้ว
ทั้งนี้ ตนได้ตั้งข้อสังเกตว่าการลงโทษสมควรแก่เหตุ และจะเป็นการป้องปรามไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่ ซึ่งพบว่าในระเบียบได้เขียนไว้รัดกุม แต่อาจจะต้องมีการซักซ้อมในวิธีการปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการสอบสวนและการนำตัวขึ้นศาลทหาร เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติได้ถูกต้อง ซึ่งผู้บังคับบัญชา ก็ได้รับการลงโทษโดยธำรงวินัยไปแล้ว แต่เพื่อให้สังคมสบายใจทางกระทรวงกลาโหม จะตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบอีกครั้ง ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับการลงโทษสมควรแก่หรือยัง
ส่วนในอนาคตจะมีแนวทางอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบนี้อีก นายสุทิน กล่าวว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้น ในการออกสนามชายแดน ซึ่งต้องปฏิบัติภารกิจที่เข้มข้น เพื่อพร้อมรบ ดังนั้น ในสนามจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นมากกว่าค่ายฝึกอื่นๆเพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดความเข้มข้นในการลงโทษจึงมีมากกว่า แต่ไม่ได้ให้โอกาสหรือสิทธิพิเศษ ว่าออกชายแดนแล้วจะต้องลงโทษมากกว่าปกติ ต้องยึดตามระเบียบ เพียงแต่โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เลยเถิดมันมีมากกว่า เนื่องจากมีหน้าที่กำกับดูแลปฏิบัติงานในสนามชายแดน ให้มีความเข้มแข็ง หากพบกำลังพลหย่อนยานหนีออกจากค่าย ก็จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานในชายแดน จึงต้องลงโทษกันรุนแรง
นายสุทิน กล่าวต่อว่า เรื่องที่จะต้องมีการออกมาตรการรวมถึงการฝึกทหารใหม่ ตนได้สั่งการให้สังคายนาระเบียบปฏิบัติการทั้งหมดแล้ว ทำความเข้าใจและให้ความรู้แก่ผู้บังคับบัญชา ให้ชัดเจน และสอดส่องดูแล หากพบว่าหย่อนยาน บกพร่อง ก็ต้องลงโทษ ซึ่งการสอบสวนและการลงโทษต่อไปนี้จะเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ 1. สอบสวนทางวินัย 2.หากเข้าข่ายกฎหมายอาญาต้องขึ้นศาลทหาร นอกจากนี้ ตนจะยกเครื่องการทำงานของจเรทหาร เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเพิ่มคนและเครื่องมือในการสอดส่องดูแล เพื่อให้ทั่วถึง เป็นหูเป็นตาให้ผู้บังคับบัญชาได้มากขึ้น
ขณะที่ค่ายฝึกรวมถึงสนามชายแดน ให้ตรวจสอบสุขภาพจิตผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะครูฝึกทั่วประเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความเครียด จนลงโทษแบบวิตถาร ต้องไม่ละเลย เพราะมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ สำหรับเคสดังกล่าวที่สั่งให้แก้ผ้า เดี๋ยวผู้บังคับบัญชาจะลงไปตรวจสอบว่าเข้าข่ายโรคจิตหรือไม่ เพราะสุขภาพจิตและโรคจิตเกิดขึ้นได้หลายอย่าง บางครั้งเกิดจากความเครียดในหลายๆด้าน และมีสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นตัวกระตุ้น ประกอบกับในกองทัพมีกำลังพลจำนวนมาก อาจมีพฤติกรรมบางอย่างหรือเข้าข่ายเป็นโรคจิตได้
นอกจากนี้ ตนเตรียมที่จะประชุมและมอบนโยบายพิเศษในทุกเหล่าทัพ ตั้งแต่ผู้บัญชาการกองพล ไปจนหน่วยขึ้นตรงทุกหน่วย โดยมี ผบ.เหล่าทัพรวมด้วย ซึ่งอาจจะใช้เวทีสภากลาโหมในครั้งหน้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน
นายสุทิน ยังเชื่อมั่นว่าปัจจุบัน Social Media เข้าถึงทุกอย่าง และตนก็มีระบบตรวจสอบ แม้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่โดนกระทำ จะไม่กล้าร้องทุกข์ แต่ก็ไม่สามารถรอดสายตาของผู้จับจ้องได้ และตนจะมีการตั้งศูนย์ออนไลน์ ให้ทหารชั้นผู้น้อยได้ร้องทุกข์ อย่างไรก็ตาม จากเคสดังกล่าวไม่พบว่า มีความพยายามที่จะปิดปากทหารที่ถูกกระทำ หรือแม้แต่คิดจะทำ ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่รอบคอบ เพราะไม่สามารถปิดได้อยู่แล้ว และตนก็เน้นย้ำมาตลอดว่าสังคมจับจ้องกองทัพ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ก็มีมาก บางส่วนก็มีด้อยค่าหรือดิสเครดิตกองทัพ ต้องระมัดระวัง อย่าทำอะไรที่เข้าทางเขา การไปปิดปาก ก็ไปเข้าทางเขาเลย
ทั้งนี้ นายสุทิน ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบกับการรณรงค์ให้มาสมัครใจเป็นทหาร และก็กังวล แต่เชื่อว่าการ การอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อให้ความจริงปรากฎ ประชาชนสามารถแยกแยะได้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาก กับทุกหน่วยทหาร แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็นำไปขยายให้น่ากลัว