การก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” นอกจากจะเขย่าดินแดนถิ่นลุงแซมแล้ว ก็ยังสร้างความสั่นสะท้านไปทั่วทั้งโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งทวีป หรือภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุโรปตะวันตก ซึ่งได้ชื่อเป็นพันธมิตร ระดับมหามิตร ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา

ยิ่งภายหลังจากที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ มีท่าทีจี๋จ๋า คือ ความเป็นมิตรที่ถูกรื้อฟื้นหวนกลับมาอย่างหวานชื่นกับ “รัสเซีย” ที่มีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้นำ ในเรื่อง “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ก็ยิ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่บรรดาชาติยุโรป มหามิตรเก่า ให้ต้องพิจารณาครุ่นคิดหนัก

โดยหนึ่งในหัวข้อการครุ่นคิดพิจารณาของเหล่าชาติในภูมิภาคยุโรปเหล่านั้น ก็คือ เรื่องการรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคงทางการทหาร ในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ นั่นเอง

ว่า สหรัฐอเมริกา เจ้าของฉายาพญาอินทรี และถูกยกย่องให้เป็นพี่เบิ้มใหญ่ของพวกเขา จะเป็นที่พึงพิง พึ่งพา ของพวกเขาได้อีกต่อไปจริงหล่ะหรือ?

กองทัพสหรัฐฯ ในฐานะชาติพี่เบิ้มใหญ่ขององค์การนาโต ที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคยุโรป (Photo : AFP)

เมื่อ “ยูเครน” ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างมหาศาลเป็นประการต่างๆ จากสหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ยังถูก “เท” ถูก “ทิ้ง” จน “ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน” ต้องออกอาการซึมกันไปเลย แถมมิหนำซ้ำ สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ยังมีปฏิบัติการ “ถอนทุนบวกกำไร” คืน จากการที่สหรัฐฯ เคยช่วยยูเครนไว้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีไบเดน คิดเป็นจำนวนเงินมูลค่ามหาศาลถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 17 ล้านล้านบาท โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องการให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์เป็นทรัพยากรสินแร่ที่เป็นแร่ธาตุหายากต่างๆ ในยูเครน เป็นผลตอบแทนสำหรับการถอนทุนและบวกกำไรกลับคืนมายังสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ในฉากเหตุการณ์ที่มีขึ้นก่อนหน้า ในสมัยที่นายทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก ก็ได้ประกาศชัดเจนว่า จะให้บรรดาประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ซึ่งชาติสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคยุโรป จะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งมาร่วมสมทบกับทางนาโตอีกต่างหากด้วย มิใช่ให้สหรัฐฯ ควักกระเป๋าจ่ายมากกว่าใครเพื่อนเหมือนเฉฏเช่นที่ผ่านมา ซึ่งในการมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สองของนายทรัมป์นี้ ก็ได้มีท่าทีดังกล่าวนั้นอีกเช่นกัน

ก็ส่งผลให้หลายประเทศๆ ในภูมิภาคยุโรป เริ่มเล็งหาแนวทางจะพึ่งพาชาติยุโรปด้วยกันเอง สำหรับ การเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางการทหารของพวกเขาให้มากที่สุด พร้อมๆ กับลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ ไปในตัวเสร็จสรรพ

ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ปราศรัยกับทหารหาญของกองทัพฝรั่งเศส (Photo : AFP)

โดยหนึ่งในผู้นำชาติยุโรป ที่แสดงท่าทีชัดเจนถึงแนวทางข้างต้น ก็คือ “ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส” ได้ออกมาเรียกร้องเหล่าชาติยุโรป ซึ่งในที่นี้หมายถึงสหภาพยุโรป หรืออียู ควรจะเริ่มแผนการด้านกลาโหมของอียูแบบทั้งภูมิภาคขนานใหญ่กันได้แล้ว

ทั้งนี้ แผนการด้านกลาโหมขนานใหญ่ที่ว่า ก็จะตามมาด้วยโครงการต่างๆ ในอันที่จะทำให้แผนการดังกล่าว เดินหน้าและเป็นจริงได้ต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการทหาร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพ เช่น ในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยมีหมุดหมายสำหรับการต่อกรกับรัสเซีย หากเกิดการเผชิญหน้า เหมือนอย่างที่ยูเครนประสบ

โดยแผนการด้านกลาโหมอย่างขนานใหญ่ที่ว่า ควรจะเริ่มได้ตั้งแต่บัดนี้ หรืออีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายควบคู่กันไปด้วย ถึงเรื่องลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ด้วยการกำหนดช่วงเวลา เช่น 5 ปีข้างหน้า ไปจนถึง 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาครง ยังได้เสนอแผนการแปรขบวนทัพต่างๆ ไปประจำการในประเทศเยอรมนี อีกด้วย ซึ่งเยอรมนี ถือเป็นหนึ่งชาติมหาอำนาจที่สำคัญ ระดับพี่เบิ้มใหญ่ของอียูด้วยเช่นกัน

ประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ตรวจเยี่ยมเพื่อปลอบขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญในกองทัพฝรั่งเศส (Photo : AFP)

ทั้งนี้ แผนการแปรขบวนทัพไปประจำการในประเทศเยอรมนีดังกล่าวของประธานาธิบดีมาครงนั้น ก็มีทั้งกำลังพลทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายทั้งในการรบภาคพื้นดินและทางอากาศ อย่าง ฝูงบินขับไล่สารพัดรุ่น รวมไปถึงแม้กระทั่งอาวุธนิวเคลียร์ ที่มีประสิทธิภาพทำลายล้างสูง ซึ่งเฉพาะฝรั่งเศส ก็มีหัวรบนิวเคลียร์จำนวนราว 300 หัวรบ และฝรั่งเศส ก็ถือว่า แยกออกมาต่างหากจากองค์การนาโต

โดยแผนการแปรขบวนทัพมายังแดนอินทรีเหล็กข้างต้น ก็ยังเป็นการเสนอความคิดจากนายฟรีดริช แมร์ซ หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี หรือซีดียู ที่เพิ่งคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งหากว่าเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ เขาก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ต่อจากนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ คนปัจจุบัน

ฐานทัพทางการทหารแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี (Photo : AFP)

ทั้งนี้ นายแมร์ซ ได้เสนอความคิดว่า สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ และฝรั่งเศส ควรขยายการประจำการ หรือแปรขบวนทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนทัพอาวุธนิวเคลียร์มายังเยอรมนี เพื่อปกป้องเยอรมนี และภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นความคิดที่บังเกิดขึ้น หลังจากที่ยุโรป กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอันสืบเนื่องหลังนายทรัมป์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เรียกว่า เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน หากยุโรปเผชิญหน้ากับรัสเซีย ในแบบที่ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ แล้วหันมายืนด้วยลำแข้งของตนเองให้ได้

การเดินขบวนประท้วงเพื่อต่อต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในประเทศแห่งหนึ่งของภูมิภาคยุโรป (Photo : AFP)

นั่น! เป็นแนวความคิดของเหล่าผู้นำประเทศของภูมิภาคยุโรป ในส่วนของประชาชนพลเมืองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปแล้ว จากการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ โดย “สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศของยุโรป หรืออีซีเอฟอาร์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ระบุว่า ประชาชนพลเมืองในประเทศต่างๆ ของยุโรป ก็มีมุมมองต่อสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ แตกต่างจากอดีตเช่นกัน โดยตัวเลขโพลล์ที่ออกมาระบุว่า ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่ง มีความเห็นว่า สหรัฐฯ อยู่ในฐานะชาติ “หุ้นส่วนที่จำเป็น” สำหรับพวกเขา ซึ่งความเห็นดังกล่าว ถือว่าความสนิทชิดเชื้อต่ำกว่าการเป็นมหามิตรระดับ “พันธมิตร”เฉกเช่นแต่เก่าก่อน ซึ่งชาวยุโรปที่ยังเห็นว่า สหรัฐฯ เป็นมหามิตรระดับพันธมิตรที่สำคัญของพวกเขานั้น มีจำนวนเพียงร้อยละ 21 เท่านั้น