วันที่ 3 ส.ค.67 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการกิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2568 ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร.ต.อ. ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าและผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวชุมชนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง เข้าร่วม
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กราบนมัสการพระพระณัฐวัฒน์ กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดท่าไคร้ บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จังหวัดเชียงราย และร่วมรับฟังผลการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน
ทั้งนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนคนไทยวนและมีชาติพันธุ์อาข่าอพยพมาอยู่ในชุมชนร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสามัคคี ชุมชนก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2397 ผู้ริเริ่มสร้างหมู่บ้านครั้งแรก เป็นชาวลวงซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้าน “เมืองลวง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้าน “เมืองรวง”
ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ อยู่เย็น เป็นสุขดีเด่น ระดับเขตและระดับภาค ชุมชนต้นแบบจัดการขยะ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ต่อเนื่องกัน 2 ปี ได้แก่ ปี 2564 และ 2565 มีกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน หมู่บ้านน่าอยู่ ผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน เช่น กาแฟ น้ำพริกตาแดงปลาช่อนป่น มะขามแก้ว ผลิตภัณฑ์จักสาน สบู่สมุนไพร และ “แหนมหมู”หรือ “จิ้นส้ม” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ที่ขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้ เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวผ่านตลาดวัฒนธรรม“สุดสาย ยายกอง” และมีลานวัฒนธรรมสร้างสุข นำเสนอความเข้มแข็งของชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของชุมชน เช่น การแสดงฟ้อนเล็บ การแสดงชาติพันธุ์อาข่า เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดท่าไคร้ วัดพุทธมิ่งโมลี และเทศกาล ประเพณีท้องถิ่น เช่น พิธีสงเคราะห์ทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นต้น