วันทึ่ 18 เมษายน 2568 กรณีแม่น้ำสายชายแดนไทย-เมียนมา เอ่อล้นเข้าท่วมทั้ง 2 ประเทศด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ จ.ท่าขี้เหล็ก ครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.ย.-ต.ค.2567 ที่ผ่านมานั้น พบว่าทางการไทย โดยกรมการทหารช่าง กองทัพบก ได้มีการออกแบบเพื่อก่อสร้างแนวป้องกันน้ำชั่วคราว-กึ่งถาวร กั้นขอบแม่น้ำสายในเขต อ.แม่สาย จ.เชียงราย เสร็จเรียบร้อยแล้ว และหลังจากผ่านกระบวนการแจ้งให้ทางคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ทั้งฝ่ายไทยและเมียนมาแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เริ่มขนเครื่องจักรเครื่องมือลงไปทำการก่อสร้างในวันที่ 18 เม.ย.2568 นี้เป็นวันแรก โดยไดัมีการตั้งสำนักงานย่อยอยู่ภายในชุมชนสายลมจอย ริมฝั่งแม่น้ำสาย
ขณะที่ประเทศเมียนมา ได้ก่อสร้างล่วงหน้าไปแล้วตั้งแต่ชุมชนปงถุนจนถึงบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่สาน้ำสายแห่งที่ 1 แล้ว
ด้านนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย ได้สั่งการให้นายสิทธิศักดิ์ อินใจคำ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง นายสันติ อินทนิล ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคง และนายปวเรศ ปัญญายงค์ ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่นคง นำเจ้าหน้าที่ออกทำการชี้แจงการก่อสร้างกับชาวบ้านว่าจะมีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำชั่วคราว-กึ่งถาวร ริมแม่น้ำสายฝั่งไทยระยะการประมาณ 3 กิโลเมตร เริ่มต้นบริเวณเส้นเขตแดนทางน้ำระหว่างไทย - เมียนมา ด้านชุมชนบ้านหัวฝาย ต.เวียงพางคำ ตรงกันข้ามชุมชนปงถุนของเมียนมา ไปจนถึงบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.นี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 15 มิ.ย.2568
นอกจากจะทำแนวป้องกันฯ ดังกล่าวกรมการทหารช่างจะมีการขุดลอกแม่น้ำรวก ตั้งแต่เขต ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ลงไปจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตามข้อตกลงไทย-เมียนมา โดยจะมีหน่วยงานทหารต่างๆ ให้การสนับสนุน ทั้งกองกำลังผาเมือง มณฑลทหารบกที่ 37 ฯลฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้สำรวจความลึกและกว้างของแม่น้ำ สภาพดิน ระยะห่างสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ แล้ว และจะเริ่มขุดลอกลอกเป็นช่วงๆ ช่วงละ 50-100 เมตร เพื่อลดความดันของน้ำและดิน ลดตลิ่งทรุดพร้อมมีระบบป้องกันชั่วคราวเป็นเสาเข็มไม้เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 นิ้ว ตอกเป็นแนวชิดกันเพื่อไม่ให้ดินทะลักลงแม่น้ำเพิ่มเติมด้วย ขณะที่ฝ่ายเมียนมาจะขุดลอกตั้งแต่ทิศทางต้นแม่น้ำไปจนถึงเขต ต.เกาะช้าง ของไทย
สำหรับแนวป้องกันน้ำชั่วคราว-กึ่งถาวร กั้นขอบแม่น้ำสาย จำนวน 5 แบบนั้น แบบแรกมีเสาเข็มคอนกรีตเสรฺมเหล็กและแผ่น Precast panal เป็นฐาน มีคานทับหลังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นกัน มีการถมดินด้านหลังกำแพงส่วนด้านบนเป็นแนวป้องกันน้ำด้วยถุง Big bag,แบบที่ 2 มีแนวกำแพงป้องกันตลิ่งเหมือนเดิมแต่จะมีเสาเหล็กค้ำยันและมีแนวกำแพงทำด้วยแผ่นคอนกรีตสำเร็จ,แบบที่ 3 ก่อสร้างเป็นเสาและกำแพงคอนกรีต, แบบที่ 4 มีเนวกำแพงป้องกันตลิ่งด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแต่มีช่องเปิดบริเวณผนังอาคารที่อยู่ริมน้ำด้วยแผ่นเหล็กหนา 2 มิลลิเมตร,และแบบที่ 5 ใช้แนวกันน้ำด้วยถุง Big bag
สำหรับระยะเวลาก่อสร้างจะเป็นการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ใน 7 วันแรก และงานเตรียมพื้นที่อีก 15 วัน ก่อนที่จะเริ่มงานขุดลอกก่อนโดยกรมทหารช่างเป็นเวลา 45 วัน ต่อด้วยทหารจากกองทัพภาคที่ 3 อีก 45 วัน ช่วงเวลาเดียวกันจะมีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำระยะเวลา 45 วันเช่นกัน เมื่อแล้วเสร็จหมดจะมีการเก็บรายละเอียดอีก 7 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนกลางฤดูฝนปี 2568 นี้ต่อไป