วันที่ 3 ส.ค.67 ที่ศาลาป่าชุมชนบ้านคลองไทร หมู่ 9 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมนาย ประยงค์ ดอกลำไย นักปกป้องสิทธิชุมชนและที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล สภาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา เขต อ.วังน้ำเขียว นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไทยสามัคคี นายมงคลศิลป์ ลีนะกนิษฐ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรวังน้ำเขียว นายวิโรจน์ แจ่มศรี ผู้นำชุมชนและชาววังน้ำเขียวร่วมประกอบพิธี กิจกรรมพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพุทธมนต์ 9 รูป และปลูกป่ากาแฟสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่าชุมชนอนุรักษ์ จากนั้นจัดเวทีเสวนา “ทับลานไม่ทับป่าแต่ทับคน” เพื่อเปิดรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาข้อเท็จจริงของ 97 ชุมชน ที่คนภายนอกไม่เคยรับรู้ เพื่อหาทางออก “เซฟทับลาน” ซึ่งมีนายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมเป็นผู้ดำเนินรายการและขึ้นป้ายข้อความแสดงความรู้สึก “คืนความเป็นธรรมให้ชาวทับลาน” , “กรมป่าไม้ประกาศเขตอุทยานทับลานทับที่ทำกินชาวบ้านตั้งแต่ พ.ศ 2524 กว่า 40 ปีแล้ว หยุดทำร้ายพวกเราเถอะครับ” “ขอคืนความเป็นหมู่บ้านและชุมชนให้กับพวกเรา” โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการและชาวบ้านรวมทั้งผู้สนใจกว่า 300 ร่วมกิจกรรมแสดงออกทางสัญลักษณ์ให้สังคมรับรู้ความจริงอีกด้าน

จากนั้นได้อ่านข้อเรียกจากเครือข่ายประชาชนชาวไทยสามัคคีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมถึงรัฐบาลดังนี้

1.เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ทับลาน ซึ่งไม่นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดและใช้เสียงของคนนอกจึงไม่ทราบข้อเท็จจริงของปัญหา
2.ยืนยันให้รัฐบาลใช้เส้นแนวเขตอุทยาน พ.ศ. 2543 ซึ่งมีความถูกต้องตรงตามสภาพความเป็นจริงเป็นที่รับรู้และยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยกรมอุทยานเคยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อศูนย์มรดกโลก (UNESCO World Heritage Centre) เมื่อปี พ.ศ.2548 ว่าจะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่อาศัยในแหล่งมรดกโลก
3. ขอให้รัฐบาลเร่งเพิกถอนพื้นที่ทับลานโดยไม่ประวิงเวลา เพราะเรารอมากว่า 40 ปีโดยให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2567
4. เราไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกา ที่กรมอุทยานกำลังประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นไปในทางผูกขาดการใช้อำนาจรัฐ เป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างสูง ขัดแย้งโดยตรงกับมาตรฐานทางมนุษยธรรมของศูนย์มรดกโลกยูเนสโก

นายสมบูรณ์ อดีตนายก อบต ไทยสามัคคี เปิดเผยว่า เดือนสิงหาคมนี้ ถือเป็นเดือนมหามงคลของคนไทย เราจึงจึงจัดกิจกรรมบวชป่า บูชาต้นน้ำแสดงให้เห็นชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่า ขอสะท้อนถึงรัฐบาล การสร้างความยั่งยืนและอนุรักษ์ป่ามิใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกันกับประชาชนและชุมชน รัฐบาลควรดำเนินตาม มติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2561 คืนให้กับชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่ใช่ผืนป่าแต่เป็นแหล่งชุมชนที่พักอาศัยของชาวบ้าน จึงเป็นการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนชุมชน ชาวบ้านมีใจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างจากทุกคน ขอให้สังคมเข้าใจข้อเท็จจริงพื้นที่ 260,000 ไร่ ไม่ใช่ป่า ขณะนี้สังคมกำลังถูกหน่วยงานหรือกลุ่มคนออกมาชี้นำ สร้างวาทะกรรมให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ด้านนายมงคลศิลป์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรวังน้ำเขียว กล่าวว่า การท่องเที่ยววังน้ำเขียวโดยชุมชน มีการบริหารจัดการคอมมูนิตี้ มีหน่วยงานรัฐสนับสนุนและเคยได้รับรางวัลกินรีของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบทยอดเยี่ยม รางวัลมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน ล่าสุดเข้ารอบการประกวดหมู่บ้าน ยูเนสโก 2024 เราไม่ได้อยู่ในป่าท่ามกลางกระทิงหรือสัตว์น้อยใหญ่ออกมาเดินหากิน ตามที่ปรากฏภาพข่าว ข้อเท็จจริงอยู่ในเขตอนุรักษ์เขาแผงม้า ซึ่งเป็นเขตอุทยานและเป็นแลนมาร์คท่องเที่ยวของวังน้ำเขียว สำหรับข้อสรุปประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นกรณี เซฟทับลาน มติ 9 แสน ต่อ 6 หมื่น ชาววังน้ำเขียวไม่โกรธ แต่รู้สึกเศร้าเพราะเขาไม่เคยมาเที่ยว จึงไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง