วันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีเมื่อเดือนพ.ย. 66 กสม.ได้รับการร้องเรียนว่าการที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกร้องที่ 1) อนุญาตให้นายทักษิณ  ชินวัตร ผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ (ผู้ถูกร้องที่ 2) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ  กสม.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้  

สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 และมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง วางหลักไว้ว่า ผู้ต้องขังย่อมมีสิทธิได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว และหากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำที่ถูกควบคุมตัวจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำเสียก่อน

โดยกรณีการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อพิจารณาจากการชี้แจงของแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตรายเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ ซึ่งการที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 ส.ค. 2566 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น อันถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควรแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีโรงพยาบาลตำรวจรับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพิเศษชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษานั้น เห็นว่า การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากโรงพยาบาลฯ ให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่านายทักษิณยังพักที่ห้องพิเศษดังกล่าวมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลฯ ชี้แจงว่านายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ ซึ่งหากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่มีการชี้แจงจริง ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษ ซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว

อีกทั้งกรมราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษ  เนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป

จึงเห็นว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำฯ ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

สำหรับกรณีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจอนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เห็นว่า แม้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กสม. ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย แต่หากนายทักษิณมีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามอ้าง ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำฯ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันที ไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับโรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงขนาดที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ นานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำฯ ได้

ในชั้นนี้ จึงเห็นว่าการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจเป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

กสม. เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญเกิดจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลยพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป

และข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา 120 วันไปแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ

อีกทั้งหากการรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบเท่านั้น อาจก่อให้เกิดภาวะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีดังกล่าว

กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม. จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ 6

นอกจากนี้ กสม. ยังมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า 1. มาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และกรมราชทัณฑ์ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของโรงพยาบาลตำรวจ ตามหน้าที่และอำนาจ และกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นว่านี้อีก โดยต้องเปิดเผยความคืบหน้าเป็นระยะและแจ้งผลการดำเนินการต่อสาธารณะภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย รวมทั้งให้แพทยสภาตรวจสอบการกระทำของแพทย์สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ ผู้ทำการรักษาหรือมีความเห็นทางการแพทย์ในกรณีตามคำร้องนี้ แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้

2.มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรณีมีเหตุยกเว้นตามนัยมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ป้องกันการเลือกปฏิบัติ และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

3.ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 โดยแก้ไขข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า “ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังป่วย ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย”

และให้แก้ไขข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องใช้อำนาจในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา แทนการรับทราบเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร