วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ ห้องไลบรารี่ โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย นางสาวการะเกด นันทศรีนนท์ ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center :AIC) จังหวัดเชียงราย นายวัชรพันธ์ ปัญญาคำ 93degree Coffee อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ นายพงษ์ศิลา คำมาก กรรมการและประชาสัมพันธ์สมาคมกาแฟพิเศษไทย ร่วมกันแถลงความพร้อม ในการจัดเทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก “สวรรค์ของเมืองกาแฟ” กิจกรมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟและพัฒนาเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ โครงการเพิ่มขีดในการแข่งขันการเกษตรระดับภูมิภาค
โดยการจัดการจัดงาน เทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก Eastern Lanana Coffee Fest 2024 “สวรรค์ของเมืองกาแฟ” ในระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2567 ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย ซึ่งจะมีการออกบูธประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพ การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกาแฟ/เกษตรกรและนักธุรกิจที่สนใจ การจัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนา พร้อมทั้งกิจกรรม workshop สาธิตให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ เช่น การตัดเมล็ดกาแฟตามมาตราฐานสมาคมกาแฟ การชิมกาแฟสำหรับคอกาแฟและนักท่องเที่ยว
การทำสครับกาแฟ ชิมกาแฟจากแหล่งปลูกต่าง ๆ ของ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ฟรี ทุกวัน พร้อมกิจกรรมการแสดงบนเวที การร่วมสนุกเล่นกมส์ ลุ้นรับของรางวัล โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย 053-718970
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กาแฟนอกจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน) ไม่ต่ำกว่า 721 ล้านบาทต่อปีแล้ว ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในระบบเกษตรแบบยั่งยืน ด้วยการปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ ทั้งไม้ผลและป่าธรรมชาติ จึงเรียกได้ว่าเป็นกาแฟรักษาป่า นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของภาคเหนือและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ที่ว่า "ท่องเที่ยวบนพื้นฐานวัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืนสู่เศรษฐกิจมั่นคง" ด้วยการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรอินทรีย์ มีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำด้วยการส่งเสริมเกษตรกรปลูกในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ กลางน้ำด้วยการแปรรูปให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่า สูงและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการกาแฟคุณภาพใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และปลายน้ำ ด้วยการประชาสัมพันธ์และขยายช่องทางการตลาด
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) มีการปลูกกาแฟที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand /PGS และแบบวิถีพื้นบ้านที่ไม่ใช้สารเคมีแต่มีข้อจำกัดในการออกใบรับรองมาตรฐาน รวมทั้งแบบเกษตรปลอดภัย (GAP) ที่มีการใช้สารเคมีอย่างจำกัด ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมและพัฒนารวมทั้งตรวจ รับรองมาตรฐาน เกษตรกรส่วนใหญ่จำหน่ายในรูปแบบเชอรี่และสารกาแฟ (Green bean) ให้กับพ่อค้าคนกลางหรือโรงคั่ว เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการแข่งขันของภาคเกษตร เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรไปสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยการใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ในแต่ละ พื้นที่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต
นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย จึงได้รับอนุมัติจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ให้ดำเนินกิจกรรม ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟ และพัฒนาเชื่อมโยงตลาดเมล็ดก าแฟคุณภาพภายใต้กิจกรรมหลัก ส่งเสริมช่องทางการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โครงการเพิ่มขีดในการแข่งขันการเกษตรระดับภูมิภาค โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและสร้างตราสินค้ากาแฟของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟคุณภาพ ประชาสัมพันธ์และนำเสนอกาแฟคุณภาพของเกษตรกรต่อผู้บริโภคและเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ
โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 27 ราย จาก 4 จังหวัด (เชียงราย 17 ราย พะเยา 4 ราย แพร่ 4ราย น่าน 2 ราย) ซึ่งเกษตรกรทั้ง 27 ราย ได้ผ่านการอบรมการทดสอบรสชาติของกาแฟ หรือ Cupping ภายใต้กิจกรรม สนับสนุนการยกระดับผลผลิตกาแฟสู่มาตรฐานและการพัฒนาอัตลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าโดยส่งเสริมให้เกษตรกรแบ่งผลผลิตบางส่วน มาทำกาแฟคุณภาพหรือกาแฟพิเศษ (Special Coffee).