วันที่ 1 ส.ค.2567 ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากกรณี การย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยในขณะนี้กระแสสังคมได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก จากก่อนหน้านี้ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือ พร้อมทั้งให้หาแนวทางในการพัฒนาริเวณท่าเรือคลองเตยของ กทท.ทั้งหมดกว่า 2,353 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ในครั้งนี้นั้น เพื่อต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ลดปัญหาความแออัดของชุมชน แก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร ซึ่งรวมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย
ทั้งนี้ ทาง นอร์ดกรุงเทพโพล ได้ทำการสำรวจประชาชน จำนวน 2,500 ราย เมื่อวันที่ 22-30 ก.ค.67 ที่ผ่านมา โดยสอบถามว่า ท่านทราบโครงการ การย้ายท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) หรือไม่ พบว่า ประชาชนทราบ 70.3% และไม่ทราบ 29.7% พร้อมทั้วถามต่อว่า เห็นด้วยหรือไม่ กับการย้ายท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) พบว่า เห็นด้วย 70.7% ไม่เห็นด้วย 16.2% และไม่แสดงความคิดเห็น 13.1%
อีกทั้งยังสำรวจต่ออีกถึง การย้ายท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) จะทำให้เกิดประโยชน์ ที่ดินในพื้นที่เดิมอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ใช้ผสมผสานการใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน 40.2% ใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ด้อยโอกาส 16.7% ใช้เป็นสวนสาธารณะ 11.3% ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 10.2% ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3.2% และ อื่นๆ 18.4%
ทั้งนี้ประชาชนผู้ให้การสำรวจทั้งหมดนั้น มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารกรณีแผนการย้ายท่าเรือกรุงเทพมาจาก อินเตอร์เน็ต เว็ปไซต์ 24% แผ่นพับ โปสเตอร์ เอกสารประชาสัมพันธ์ 14.2% วิทยุ โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี 12.4% สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ วารสาร 9.3% เอกสารเผยแพร่จากทางราชการ 5.2% และ อื่นๆ 34.9%